กระชากหน้ากากพันธมิตรสารพิษเพื่อพลิกวิกฤตความปลอดภัยทางอาหาร

ความปลอดภัยทางอาหารเป็น ‘การเมือง’ เนื่องจากตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารนอกจากเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลอันมีบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะบรรษัทเคมีเกษตรข้ามชาติที่มีอิทธิพลเหนือรัฐชาติในการกำหนดนโยบายและมาตรการกฎหมายเข้ามาเป็นผู้เล่นหลัก (key player) แล้ว ยังยึดโยงกับเจตจำนงทางการเมือง (political will) ของผู้มีอำนาจตัดสินใจทางนโยบายซึ่งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยก็คือนักการเมืองที่อ้างความเป็นตัวแทนประชาชนไปกำหนดนโยบายและกฎหมายตามอำเภอใจแล้ว ยังมักปฏิบัติการผ่านพันธมิตรเครือข่ายข้าราชการ นักวิชาการ และเทคโนแครต เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่กฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมาเองอีกทางหนึ่งด้วย

ด้วยนอกเหนือไปจากใช้กลยุทธ์ทางการตลาดด้วยการโหมโฆษณาและส่งเสริมการขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การใช้กฎหมายการค้าการลงทุนที่ไม่เป็นธรรม การผูกขาดเทคโนโลยี การมีอำนาจเหนือตลาด ไปจนถึงการล็อบบี้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ้ทางนโยบายด้วยเม็ดเงินและตำแหน่งโดยนักวิ่งเต้นมือพระกาฬ (lobbyist) แล้ว ยุทธวิธีสร้าง ‘พันธมิตรสารพิษ’ ที่เป็นเครือข่ายเทคโนแครต นักวิชาการ ข้าราชการ และนักการเมือง ยังเป็นวิธีการสำคัญของบรรดาบรรษัทอุตสาหกรรมเคมีเกษตรระดับชาติและข้ามชาติด้วย ดังการประชุมกำหนดเกณฑ์การพิจารณาวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่พันธมิตรสารพิษผนึกกำลังกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งสารพิษด้วยการเสนอให้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายร้ายแรงที่ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและเพื่อนบ้านอาเซียนซึ่งตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชนห้ามใช้แล้วต่อไป ทั้งคาร์โบฟูราน (carbofuran) เมโทมิล (methomyl) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และอีพีเอ็น (EPN)
การขาดประสิทธิภาพด้านการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่การกำกับการโฆษณาชวนเชื่อ การส่งเสริมการขาย ควบคู่กับการเอื้อประโยชน์บรรษัทในการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพิษร้ายแรงต่อไปได้ภายใต้การหนุนเคลื่อนกฎหมายและนโยบายที่ทำร้ายสุขภาพของภาคีเครือข่ายสารพิษที่ผสานพลังกันแนบแน่นทั้งสมาคมการค้า (trade associations) ที่มุ่งคุ้มครองผลประโยชน์ตนเอง สถาบันวิชาการ (scientific institutes) ที่อ้างงานวิจัยว่ามีความถูกต้อง โครงการศึกษา (educational programs) ที่เสนอแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (public-private partnerships) ที่ทำให้รัฐบาลไม่กล้าคัดค้านข้อเสนอเอกชน ได้ทำให้ ‘สุขภาวะประชาชนเสื่อมทรุด-สุขภาวะสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม-สุขภาวะสังคมเสื่อมทราม’ ลงรวดเร็ว โดยสังคมไทยไม่ได้ตระหนักถึง รวมถึงสื่อมวลชนไม่ได้สอบสวนเบื้องหลัง (investigative reporting) การสมประโยชน์กันของกลุ่มเหล่านี้ทั้งทางการเงิน การวิจัย ไปจนถึงการมีตำแหน่งหน้าที่ ว่าได้ผลักภาระมหาศาลให้สังคมไทยแบกรับมากแค่ไหน
แม้หลายฝ่ายจะพยายามต่อต้านการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายร้ายแรง หากแต่ก็ต้องเผชิญแรงเสียดทานมหาศาลจากอิทธิพลธุรกิจยักษ์ใหญ่และปัญหาพื้นฐานสำคัญจากการที่กฎหมายและนโยบายสาธารณะของประเทศไทยไม่ได้ริเริ่มและบังคับใช้จากฐานความรู้ ข้อมูล ข้อเท็จจริง เท่ากับผลประโยชน์ของกลุ่มกุมอำนาจการเมืองและทุนที่ผนวกกันเป็นหนึ่ง ถึงขนาดนักวิชาการและข้าราชการที่มีเจตจำนงปกป้องสุขภาวะประชาชนจากการบริโภคอาหารปนเปื้อนสารพิษก็ยังถูกกีดกันออกไป (exclusion) ดังกรณีกรมการข้าวที่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชครั้งนี้แต่อย่างใด แม้มีหลักฐานวิชาการชัดเจนว่าคาร์โบฟูราน 1 ใน 4  ‘จตุรพิษ’ นั้นไม่ควรอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้อีกต่อไป
ไม่นับความเลวร้ายกว่านั้นจากการกีดกันกดทับเสียง (voice) ของภาคประชาสังคมที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมคุ้มครองสุขภาวะตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการหนุนเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมด้านสุขภาพที่ถูกผูกขาดอยู่ในกลุ่มเทคโนแครต นักวิชาการ ข้าราชการ และนักการเมือง รวมถึงนักกฎหมายที่อ้างความซับซ้อนของข้อกฎหมายทั้งทางเทคนิคและพันธกรณีที่มีระหว่างประเทศและสถาบันโลกบาลต่างๆ ในการปัดปฏิเสธเสียงประชาชน โดยปล่อยให้มีการใช้สารเคมีที่ทำลายสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคมต่อไป ในขณะเดียวกันก็เอาเกษตรกรมาเป็นข้ออ้างว่าถ้ายกเลิกการใช้หรือไม่ขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิดนี้จะทำให้เกษตรกรจำนวนมากเดือดร้อนจากการไม่มีสารเคมีใช้ ทั้งๆ ที่มีสารเคมีทดแทนที่มีอันตรายน้อยกว่า หรือเลือกใช้ชีววิถีในการกำจัดศัตรูพืช หรือไม่ก็ปรับเปลี่ยนไปเป็นเกษตรอินทรีย์ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแต่มีมูลค่าทางการตลาดสูงกว่าเพราะมีมูลค่าเพิ่ม (value added) ก็ได้
นัยสำคัญของการเปลี่ยนผ่านความปลอดภัยทางอาหารจากการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจึงเลี่ยงการต่อกรกับพันธมิตรสารพิษที่กอปรด้วยเครือข่ายเทคโนแครต นักวิชาการ ข้าราชการ นักการเมือง ที่ถูกซื้อเข้ามาเป็นพวกเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้แก่บรรษัทสารเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ที่ร่ำรวยโดยการใช้ความรู้ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ ตำแหน่งหน้าที่ หรือบทบาททางสังคมในการสร้างความชอบธรรมให้กับกฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับสุขภาวะไปไม่ได้ ด้วยตราบใดไม่สามารถกระชากหน้ากากพันธมิตรสารพิษเหล่านี้ออกมาตีแผ่ให้สังคมรับรู้ ตราบนั้นประชาชนก็ไม่มีทางเท่าทันกลยุทธ์การตลาดขององค์กรธุรกิจซึ่งขาดความรับผิดชอบทางสังคม (corporate responsibility) ที่ครอบงำมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารต่างๆ ของประเทศไทย ตั้งแต่การติดฉลากจีเอ็มโอ (GMO) ไปจนถึงการกำหนดค่าสารพิษตกค้าง (MRL) ให้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนเกิดการสมรู้ร่วมคิดกับรัฐในการกำหนดค่ามาตรฐานเพื่อเอื้อประโยชน์องค์กรธุรกิจมากกว่าปกป้องคุ้มครองสุขภาวะประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกด้วย โดยจะนำหลักฐานข้อมูลซึ่งถ้าตรวจสอบมักจะพบว่าบิดเบือนมาคัดง้างกับข้อเสนอของภาคประชาสังคม
การสร้างความปลอดภัยทางอาหารในสังคมไทยที่กำลังอ้างอิงมาตรฐานสากลต่างๆ ตั้งแต่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิมนุษยชน จนถึงระบอบประชาธิปไตย ได้ทำให้สถานการณ์ของรัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการเดินหน้านโยบายคุ้มครองสุขภาวะประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยเร่งด่วน โดยเบื้องต้นต้องเข้ามากำกับการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และอยู่บนกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ตลอดจนต้องมีความกล้าหาญมากพอจะไม่อนุญาตให้คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ขึ้นทะเบียนต่อไปได้เหมือนนานาอารยะประเทศตะวันตกและเพื่อนบ้านอาเซียนที่ใส่ใจสุขภาวะเหนือหรือเท่ากับเศรษฐกิจ และเพื่อจะเป็นการสานต่อนโยบายครัวโลกที่เริ่มไว้ในสมัยพรรคไทยรักไทยที่ตั้งแต่ต้นธารถึงปลายธารอาหาร (from farm to table) หรือตลอดห่วงโซ่อาหาร (food supply chain) ต้องมีความปลอดภัย และแก้ไขปัญหานโยบายประชานิยมรับจำนำข้าวที่ทำรัฐบาลเสียศูนย์จากการสูญเสียงบประมาณมหาศาลและเกิดทุจริตคอร์รัปชั่นมโหฬารที่ซ้ำเติมปัญหาสุขภาวะทุกด้านจากการกระตุ้นเกษตรกรให้ใช้สารเคมีมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตในระยะเวลาอันสั้น นอกเหนือไปจากการตรวจสอบที่ต้องเข้มงวดในทุกขั้นตอนการรับจำนำ
การกล้าหาญเดินหน้าของรัฐบาลในการปกป้องคุ้มครองสุขภาวะประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ผลักภาระไปให้สังคมแบกรับด้วยข้ออ้างว่า ‘ประชาชนต้องกำกับดูแลตนเอง’ ในการเลือกบริโภคอาหารที่มีความปลอดภัยด้วยตนเองจะทำให้สถานการณ์ของประเทศไทยที่ถูกรุมเร้าด้วยโรคมะเร็งและโรคร้ายแรงอื่นๆ อันเนื่องมาจากการบริโภคอาหารปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพราะไม่ว่าจะซื้อจากห้างดัง ตลาดสด หรือรถเร่ ก็ล้วนทำให้ผู้บริโภค ‘ร่อแร่’ ได้ไม่แพ้กัน รวมทั้งเกษตรกรผู้ผลิตก็ยังตรวจพบว่ามีสารเคมีในเลือดในระดับที่เสี่ยงและไม่ปลอดภัยราวร้อยละ 40 กลับมามีความหวังที่ไม่ใช่ ‘ฝันกลางวัน’ ได้
ปฏิบัติการทางกฎหมายและนโยบายเหล่านี้รัฐบาลไม่ได้เริ่มจาก ‘0’ แต่ตั้งต้นจากการนำข้อเสนอของภาคประชาสังคมทั้งเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ไปจนถึงข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูประบบควบคุมสารเคมีการเกษตรของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) และมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติทั้งสองครั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในภาคการเกษตรมาศึกษาพิจารณาได้ ด้วยสิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่สังคมไทยได้ใช้เลือดเนื้อความสูญเสียมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ไม่อาจปฏิเสธได้ถ้ารัฐบาลยังคงมุ่งปกป้องคุ้มครองชีวิตประชาชนเหนือผลประโยชน์บรรษัทสารเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่เพราะจะทำให้ไม่หลงกลไปกับการใช้เหตุผลรับรองทางวิทยาศาสตร์ (sound science) ของบรรษัทที่ไม่เพียงมีข้อโต้แย้งในการสร้างความชอบธรรม แต่ยังจับโกหกบิดเบือนได้เพราะการหนุนกฎหมายและนโยบายให้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายร้ายแรงต่อไปได้นั้นมักเป็นการพูดความจริงเสี้ยวส่วนเดียวเพื่อรักษาประโยชน์และผลกำไรตนเอง
รวมทั้งยังมักป้ายสีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่รณรงค์ให้มีมาตรการสร้างความปลอดภัยทางอาหารจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชว่าเป็นกลุ่มทำลายเศรษฐกิจมหภาคและทำเกษตรกรเดือดร้อน เท่าๆ กับบิดเบือนผลการศึกษาวิจัยและการตรวจสอบของเครือข่ายภาคีไม่เอาสารพิษว่าเป็นหลักวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีการยืนยัน (junk science) หรือเก็บข้อมูลไม่ครบถ้วนมากพอ ทั้งๆ ที่ผลการศึกษาวิจัยหรือการตรวจสอบเป็นไปตามหลักเกณฑ์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทุกขั้นตอนและผ่านการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการ (lab) ที่มีมาตรฐานสากลเป็นที่เชื่อถือได้ในความเป็นกลาง แต่บรรษัทก็มักเขียนข่าวอีกด้านเพื่อเผยแพร่ทัศนะหรืออ้างความเป็นวิชาการผ่านบทความหนังสือพิมพ์/วารสารวิชาการ หรือไม่ก็ให้สัมภาษณ์ชี้นำผ่านสื่อมวลชนที่ไม่ทำการบ้านหรือมีจุดยืนเรื่องประโยชน์ประชาชน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีทั้งเทคโนแครต นักวิชาการ ข้าราชการ และนักการเมือง ที่ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาแก้ต่างให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช (pesticide defense) ซึ่งถึงที่สุดก็มักได้ผลเพราะประเทศไทยใส่ใจว่าใครคือผู้พูดมากกว่าเนื้อหาที่พูด
ทั้งนี้ถึงแม้สถานการณ์เช่นนี้จะเกิดกับทุกประเทศทั่วโลกที่ทำเกษตรเคมี หากแต่ประเทศไทยความรุนแรงกลับสาหัสหนักหนากว่ามาก เพราะแนวโน้มการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปีจนมูลค่าการนำเข้าสูงเกือบ 20,000 ล้านบาทหรือคิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 80,000 ล้านบาท/ปี ที่ในจำนวนนี้คือสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพิษร้ายแรง 4 ชนิดข้างต้นที่ประเทศผู้ผลิตไม่ใช้แล้วแต่ส่งมาขายยังเมืองไทยจน ‘พลเมืองไทยกลายเป็นพลเมืองชั้นสองของโลก’ และรุนแรงเลวร้ายกว่านั้นมากจากการที่รัฐไทยไม่คุ้มครองชีวิตคนไทยเท่ากับคนต่างชาติจากการเลือกไม่แบนสารเคมีอันตรายเหล่านี้ที่ที่สุดแล้วก็ทำให้คนไทยไม่ว่าจะยากดีมีจนซื้อผักในห้างหรือตลาดสดเสี่ยงจากการบริโภคผักปนเปื้อนไม่ต่างกัน แต่ต่างจากผลผลิตทางการเกษตรและอาหารที่ส่งไปขายตลาดต่างประเทศที่มีความปลอดภัยเข้มงวดกว่ามาก
ทว่าถ้ารัฐยังคงสมคบกับบรรษัทสารเคมีเกษตรโดยมีพันธมิตรสารพิษทั้งกลุ่มเทคโนแครต นักวิชาการ ข้าราชการ และนักการเมือง มาแก้ต่างให้กับการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพิษร้ายแรงต่อไป หนึ่งในกลยุทธ์ของขบวนการทางสังคมก็คือการกระชากหน้ากากพันธมิตรสารพิษเหล่านั้นออกมาเปิดโปงตีแผ่ให้ผู้บริโภครับรู้ถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและความเป็นวิทยาศาสตร์เทียม (junk science) รวมถึงรวมกลุ่มเป็น’ พันธมิตรไม่เอาสารพิษ’ ที่ใช้พลังทางการตลาดกดดันบรรษัทให้เลิกนำเข้าสารพิษและเรียกร้องรัฐบาลให้กำหนดกฎหมายและนโยบายปกป้องสุขภาวะประชาชน สังคม สิ่งแวดล้อม ในฐานะประชาชนที่มีสิทธิเสียงเลือกตั้ง

ที่มา : http://www.biothai.net/node/14213