ทำไมแมลงถึงดื้อยา?

แมลงมันดื้อยา ยาพวกนี้เอาไม่อยู่ ต้องใช้ยาแรง หรือผสมมัน 2-3 อย่าง ถึงจะเอาอยู่” ประโยคคล้ายคลึงกันนี้ บ่อยครั้งมากที่ได้ยินจากเกษตรกรหลายๆ พื้นที่ และคำถามต่อมาคือ “มียาหรือสารฆ่าแมลงอะไรไหมที่ดีกว่านี้”  ทั้งๆ ที่สารฆ่าแมลงที่เกษตรกรใช้อยู่นั้น เป็นสารเคมีที่ทางหน่วยงานราชการแนะนำว่ายังใช้ได้ผล แต่ทำไมแมลงมันถึงดื้อยาหรือสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงชนิดนั้นๆ ได้ ตามหลักการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด จะมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์โดยทั่วไปแมลงจึงสามารถสร้างความต้านทานได้เองตามธรรมชาติ  เมื่อเกษตรกรพ่นสารฆ่าแมลงเพื่อกำจัดแมลงลงไปในแปลง จะมีแมลงอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่ตาย เนื่องจากแมลงมีความแข็งแรงอยู่แล้ว หรืออาจจะหลบหลีกได้ทันและสัมผัสกับสารฆ่าแมลงได้เพียงเล็กน้อย หรือแมลงสามารถสลายพิษได้ทัน จึงไม่ตายและดำรงชีวิตอยู่ได้ เมื่อมีการพ่นสารฆ่าแมลงชนิดเดิมอีกครั้งแมลงที่รอดมาจากครั้งที่แล้ว ก็จะทนทานอยู่ได้และสามารถถ่ายทอดลักษณะเด่นนั้นไปสู่รุ่นลูก ซึ่งแมลงรุ่นลูกนี้จะทนทานสารเคมีได้มากกว่ารุ่นพ่อแม่เสียอีก จึงเป็นที่มาของการระบาดอย่างรุนแรง (ภาพที่ 1)

ภาพที่ ปัจจัยและสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างความต้านทานในแมลง

กลไกการสร้างความต้านต่อสารเคมีของแมลงมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น

  1. กลไกทางพฤติกรรม (Behavioral resistance) โดยธรรมชาติแมลงจะมีสัญชาตญาณในการรับรู้ว่าสิ่งไหนมีอันตรายหรือไม่มีอันตราย ตัวอย่างเช่น แมลงจะหยุดกินใบพืชเมื่อมีสารฆ่าแมลงเคลือบอยู่ ในขณะที่มีการพ่นสารแมลงอาจจะหลบลงใต้ใบพืช หรือเคลื่อนย้ายหนีออกบริเวณนั้นทันที ทำให้แมลงเหล่านั้นรอดชีวิตเพราะได้รับสารเคมีในปริมาณน้อย
  2. กลไกการป้องกันการซึมผ่าน (Penetration resistance) แมลงที่ต้านทานจะมีการดูดซับสารพิษได้ช้ากว่าแมลงที่อ่อนแอ เนื่องจากผนังลำตัวชั้นนอกของแมลงมีไขเคลือบเพื่อป้องกันสารฆ่าแมลงซึมผ่านเข้าไปสู่ระบบภายใน แมลงที่มีความต้านทานจะมีผนังชั้นนอกหนากว่า จึงทำให้สารฆ่าแมลงซึมทะลุผ่านเข้าไปได้น้อย
  3. กลไกการย่อยสลายพิษ (Metabolic resistance) แมลงที่มีความต้านทานจะสามารถย่อยสลายหรือลดความเป็นพิษของสารฆ่าแมลงได้ดีกว่าแมลงอ่อนแอ โดยมีเอนไซม์ในการสลายพิษหลายตัวเช่น esterases, oxidases และ Glutathione transferases (GSTs) ถ้าหากเอนไซม์เหล่านี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แมลงก็จะได้รับอันตรายจากพิษของสารฆ่าแมลงน้อยมาก และยังสามารถสลายพิษสารฆ่าแมลงได้หลายๆ กลุ่มอีกด้วย
  4. กลไกการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งการออกฤทธิ์ (Altered target-site resistance) แมลงมีการเปลี่ยนโครงรูปหรือหน้าที่ของเอนไซม์ ทำให้ลดความว่องไวในการจับกับสารฆ่าแมลง มีการออกฤทธิ์ต่อแมลงช้าลง จึงทำให้เอนไซม์ต่างๆ ที่มีหน้าที่สลายพิษสามารถทำลายพิษได้ก่อนการเกิดพิษ

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกอีกหลายประการที่มีส่วนทำให้แมลงเกิดการต้านทานสารฆ่าแมลง แต่ปัจจัยที่สำคัญๆ ได้แก่

  1. การใช้สารฆ่าแมลงที่พิษสูง (High toxicity) ยิ่งมีพิษสูงมากเท่าไหร่ก็ทำให้แมลงเกิดแรงขับที่จะเอาชนะหรือต้านทานมากขึ้นตามไปด้วย
  2. การใช้สารฆ่าแมลงควบคุมในพื้นที่กว้าง ทำให้กัดแมลงได้ไม่ทั่วถึง
  3. การใช้สารฆ่าแมลงชนิดเดียว หรือสารที่มีกลไกการออกฤทธิ์ (Mode of Action) เดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานาน สามารถทำให้แมลงสร้างความต้านได้เร็วขึ้น

ตัวอย่างการระบาดรุนแรงของแมลงศัตรูพืชที่มีสาเหตุมาจากการสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงที่เห็นได้ชัด คือ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแมลงศัตรูข้าว ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงและขยายพื้นที่มากขึ้น นับว่าเป็นความล้มเหลวของทุกฝ่ายที่ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ นับตั้งแต่เกษตรกรใช้สารผสมระหว่างสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงกับสารกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรค หรือฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต 2-6 ชนิดรวมกัน พอหลายภาคส่วนป้องกันไม่ได้ก็โยนบาปให้เกษตรกรว่าทำไม่ถูกวิธี แต่บางครั้งผู้ประกอบการค้าสารฆ่าแมลงก็มีส่วนผลักดันให้เกษตรกรใช้สารฆ่าแมลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ผ่านการโฆษณาในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่มีการแนะนำจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาจจะทั่วถึงบ้างไม่ทั่วถึงบ้าง แต่การส่งเสริมการขายของบริษัทสารเคมีเข้าถึงได้ครอบคลุมและรวดเร็วกว่าหลายสิบเท่า และมักจะมีการเสนอแต่สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพสูงและระดับความเป็นพิษสูงให้กับเกษตรกร เนื่องจาก “ฆ่าและตายไว”จนเกษตรกรหลงผิดคิดว่าสารฆ่าแมลงนั้นจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง

“ฆ่าและตายไว” คำๆนี้ น่าคิด ฆ่านี้หมายถึงฆ่าแมลงอย่างเดียวหรือไม่ หรือฆ่าคน ตามไปด้วย ยกตัวอย่าง ในกรณีศึกษาในพื้นที่ อ.นาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านแถวนั้น ไม่กล้ากินเห็ดปลวก (เห็ดโคน) ทั้งๆที่เป็นอาหารอันโอชะของคนอีสาน และแพงอีกต่างหาก เนื่องจากปัจจุบันนี้หายาก เกิดน้อย เห็ดปลวกเหล่านี้กลับไปเกิดที่ท้ายป่ายาง (ท้ายสวนยางพารา) ชาวบ้านแถวนั้นกินเห็ดปลวกไม่ถึง 1 คืน ก็เข้าโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้น ได้เสียชีวิตลง เหตุการณ์นี้ ทำให้ชาวบ้านแถวนั้น รวมถึงคุณครูในพื้นที่ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ห้ามกินเห็ดปลวก ท้ายป่ายางเด็ดขาด” แต่ทราบหรือไม่ว่า เห็ดปลวกเหล่านี้ ยังถูกส่งไปขายตามท้องตลาด แล้วใครจะเป็นรายถัดไป? ผลกระทบของสารเคมียังมีอีกมากทั้งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังของผู้ที่พ่นสารเคมี ผลกระทบโดยอ้อมผ่านห่วงโซ่อาหาร (จากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น กรณีกินเห็ดปลวก) ซึ่งใกล้เข้ามาถึงตัวผู้บริโภคมากขึ้นทุกที

นอกจากนั้นยังพบว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรักษาผลผลิตที่มากเกินไปจะกลายเป็นหนี้สินและต้นทุนแฝงที่มากับความเจ็บป่วย งานวิจัยของ ดร.สุภาพร ใจการุณ ในปี 2552 ได้เปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างการใช้สารเคมีแบบเข้มข้น ใช้สารเคมีแบบตามคำแนะนำของนักวิชาการ และไม่ใช้สารเคมี ผลการศึกษาออกมาชัดเจนว่า การเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมีคุ้มที่สุด ในขณะที่การใช้สารเคมีทั้งแบบตามคำแนะนำของนักวิชาการแบบเคร่งครัด และใช้แบบเกินคำแนะนำ ไม่คุ้ม โดยคำนวณจากค่า สัดส่วนของผลกำไรสุทธิต่อต้นทุน (B/C ratio) ผลกำไรสุทธิ นี้รวมต้นทุนจากการเจ็บป่วยและต้นทุนจากความหลากหลายทางชีวภาพ

แต่การแก้ปัญหาต่างๆ ที่กล่าวถึงนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีการขึ้นทะเบียนสารเคมีที่มีระดับความเป็นพิษสูง เช่น ระดับ 1a และ 1b ซึ่งมีการวางขายอย่างเกลื่อนกลาดตามท้องตลาด ยกตัวอย่างสารเคมีฆ่าแมลงคาร์โบฟูราน, ไดโครโตฟอส และเมโทมิล ที่กำลังถูกจับตามองในเรื่องของอันตรายสูงและมีผลกระทบมากมาย จนหลายๆ ประเทศประกาศห้ามใช้และจำหน่ายแล้ว และยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการสร้างความต้านทานและการระบาดของแมลงศัตรูพืช โดยมีข้อมูลสนับสนุนดังนี้

ตารางที่ ตัวอย่างแมลงศัตรูพืชที่มีการสร้างความต้านทานต่อสารเคมี ที่มีรายงานในประเทศไทย

สารฆ่าแมลง ชนิดแมลงศัตรูที่ต้านทาน อ้างอิง
คาร์โบฟูราน หนอนใยผัก

(Plutella xylostella L.)

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

(Nilaparvata lugens Stal)

Cheng, 1988

Vattanatangum, 1988

Heong et al., 2001

วันทนา และคณะ, 2554

ไดโครโตฟอส แมลงหวี่ขาว

(Bemisia tabaci Genn.)

Wangboonkong, 1981
เมโทมิล หนอนใยผัก

(Plutella xylostella L.)

หนอนกระทู้

(Heliothis armigera Hubn.)

Farmy & Miyata, 1990

Rushtapakornchai & Vattanatangum, 1988

ผลการทดลองจากงานวิจัยที่ทดลองทั้งในห้องปฏิบัติการและแปลงทดลอง ซึ่งควบคุมการทดลองแบบถูกตามหลักวิชาการและถูกตามคำแนะนำการใช้สารเคมี (ตารางที่ 1) ชี้ว่า ถ้าเกษตรกรใช้สารเคมี คาร์โบฟูราน ในนาข้าว จะส่งผลต่อการดื้อยาของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และทำให้เกิดการระบาดในที่สุด (ถึงแม้จะใช้ในอัตราตามแนะนำของฉลากก็ตาม) เช่นเดียวกัน ถ้าใช้สารเคมีคาร์โบฟูรานเพื่อฆ่าหนอนใยผัก ในตอนแรกแมลงบางส่วนได้ตายไป แต่พวกที่รอดจะแข็งแรงกว่าเดิม การใช้สารเคมีซ้ำในรอบต่อมา (ตามคำแนะนำ) จึงยิ่งทำให้หนอนใยผักดื้อยาและระบาดไปมากกว่าเดิม

เช่นเดียวกัน ไดโครโตฟอส ใช้ฉีดพ่น เพื่อฆ่าแมลงหวี่ขาว และ เมโทมิลฉีดพ่น เพื่อฆ่าหนอนใยผักและหนอนกระทู้ผัก แต่แมลงเหล่านี้มีการปรับตัวและจะดื้อยาและระบาดในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ สารเคมีที่ตกค้างในผักที่ฉีดพ่น ยังถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคอย่างไม่เต็มใจรับ จึงเป็นที่มาของความห่วงใยของหลายฝ่ายในเรื่องของความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาหาร สิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพของคนไทยที่ต้องเผชิญหน้ากับพิษภัยของสารฆ่าแมลงที่อันตรายสูง แต่ท้ายที่สุดแล้ว สังคมไทยต้องร่วมสร้างความตระหนักและกดดันให้หน่วยงานรัฐผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดการกับต้นเหตุของปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง

บรรณานุกรม

วันทนา ศรีรัตนศักดิ์ สุกัญญา อรัญมิตร และจินตนา ไชยวงศ์. 2544. สถานการณ์ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในประเทศไทย. หน้า 209-225 ใน การประชุมวิชาการข้าวและธัญพืชเมืองหนาว ครั้งที่ 2 ปี 2554 : วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ. สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว,กรุงเทพ.

Berlinger,R.G. (1996). Pest Resistance to Pesticides. Department of Entomology, Clemson University. printed March 1996.

Chaigarun, S., N. Kessomboon, and P. Kessomboon. 2009. Cost-Benefit Analysis on Untreated and Treated Pesticide Application in Rice Field. Oral presentation for the Second Asian International Conference on Humanized Health Care. October 12-13,2009, Nanning, Guangxi Province, China.

Georghiou, G.P. 1994. Principles of insecticide resistance management. Phytoprotection,75(4): 51-59.