ภาคประชาสังคม เสนอร่าง กม. สารเคมี ปรับ ม.7 สัดส่วน กก.ทรงคุณวุฒิเหลือ 10 คน

16 องค์กรภาคประชาสังคม ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการ อย. เเสดงความเห็นเพิ่ม ร่าง พ.ร.บ.สารเคมี พ.ศ. … ยึดหลัก 4 ข้อ ป้องกันไว้ก่อน มีส่วนร่วม เปิดเผยข้อมูล เพิ่มขอบเขตรับผิดชอบของผู้ผลิต พร้อมเสนอลดสัดส่วนกก.ทรงคุณวุฒิ เหลือ 10 คน

วันที่ 31 พ.ค. 2562 องค์กรภาคีเครือข่ายสนับสนุนความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สารเคมี พ.ศ. … 16 องค์กร ประกอบด้วย มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิชีววิถี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิสุขภาพไทย สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส สมาคมอาหารธรรมชาติยั่งยืนนครศรีธรรมราช เครือข่ายอาหารเพื่อเพื่อน ธนาคารอาหาร ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์สุรินทร์ และสมาคมเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสุขภาพวิถีไท เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผ่านนพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการ อย. ณ อาคาร 1 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ผศ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข ประธานคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า ภาคีเครือข่ายเสนอในเชิงหลักการเพื่อให้ ร่างพ.ร.บ.สารเคมี พ.ศ. …มีโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์ใน 4 หลักการ คือ

  1. หลักการปลอดภัยไว้ก่อน (Precautionary Principle) ซึ่งทั่วโลกยึดถือว่า เมื่อจะอนุญาตสารเคมี ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ต่าง ๆ หากพบมีความเสี่ยงจะต้องหยุดความเสี่ยงนั้นไว้ ดังนั้น ต้องตรวจก่อนว่ามีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้นในประเทศเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือไม่ เนื่องจากสารเคมีหลายชนิด ประเทศผู้ผลิตเลิกใช้แล้ว แต่กลับมาจำหน่ายในประเทศกำลังพัฒนา

  2. หลักการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนและการปลอดจากการมีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งในร่างกฎหมายยังไม่ปรากฎการมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน ภาคประชาชนจึงเสนอเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการในทุกระดับ คือ คณะกรรมการนโยบายสารเคมีแห่งชาติ ซึ่งต้องมีภาคส่วนประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่นที่ล้วนเป็นตัวหลักในการจัดการสารเคมีในระดับพื้นที่

  3. หลักการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส โดยกระบวนการที่ผ่านมามีปัญหาความโปร่งใสในการพิจารณาตัดสินใจ จึงเสนอหลักการเปิดเผยข้อมูลวิชาการ หรือข้อมูลประกอบการตัดสินใจต้องเปิดเผยสู่สาธารณะและให้สาธารณะมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการตัดสินใจ

  4. หลักการเพิ่มขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ผลิต แม้จะมีในร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว แต่อยากให้เน้นเกิดความเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ด้าน น.ส. ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าวว่า หากย้อนกลับไปดูสถานการณ์ในอดีตจะพบปัญหา คือ สวิสเซอร์แลนด์ เป็นบริษัทแม่ผลิตพาราควอต แต่ได้ยกเลิกใช้ในประเทศมากว่า 30 ปี ดังนั้น หากใช้หลักการความปลอดภัยไว้ก่อน พาราควอตจะเข้ามาในไทยไม่ได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีความพยายามสนับสนุนยกเลิกการนำเข้าและใช้แล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางรายที่มีความใกล้ชิดกับบริษัทผู้ค้าสารเคมี จึงคาดหวังว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่จะมาแก้ไขปัญหานี้ได้

ส่วนการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ผู้ประสานงาน Thai-PAN ระบุพบว่า ในต่างประเทศกว่าจะขึ้นทะเบียนสารเคมีแต่ละชนิด จะมีการเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่บริษัทยื่นขอขึ้นทะเบียน มีการประกาศผ่านเว็บไซต์ หรือส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ แม้แต่เมียนมามีการประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีการขึ้นทะเบียนสารเคมี แต่ของไทยกว่าจะทราบ ปรากฎว่าขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นว่า ไทยยังล้าหลังมาก จึงเรียกร้องให้ปรับปรุงและแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอที่สำคัญของภาคีเครือข่าย หนึ่งในนั้นคือ ให้มีการปรับแก้มาตรา 7 เกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายสารเคมีแห่งชาติ นอกเหนือจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นอย่างละ 1 คน โดยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทคัดเลือกกันเอง

ผู้แทนองค์การสาธารณประโยชน์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่การแสวงหาผลกำไรและดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตร ด้านสาธารณสุข และด้านสิ่งแวดล้อม ด้านละ 1 คน โดยการคัดเลือกกันเองในแต่ละด้านให้เหลือด้านละ 1 คน

ลดสัดส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก 14 เหลือ 10 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้แต่งตั้งจากบุคคลผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานในเชิงประจักษ์ในสาขาเคมี พิษวิทยา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม คุ้มครองผู้บริโภค อุตสาหกรรม กสิกรรม ประมง ปศุสัตว์ การขนส่ง หรือสาขาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียและไม่มีผลประโยชน์ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมกับธุรกิจสารเคมี

พร้อมเสนอให้เพิ่มสัดส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไม่แสวงหาผลกำไรในลักษณะเดียวกันกับข้างต้นเข้าไปใน “คณะกรรมการจัดการสารเคมีเฉพาะด้าน” เพื่อเพิ่มบทบาทและการมีส่วนร่วมในระดับต่าง ๆ ให้ชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ขณะที่การรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ. สารเคมี พ.ศ. …ครั้งที่ 1/2562 ปัจจุบัน อย. ได้ขยายระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นออกไป โดยจะสิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย. 2562 จากเดิมจะปิดในวันที่ 31 พ.ค. 2562

ที่มา : สำนักข่าวอิสรา