แถลงการณ์เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง เรียกร้องให้รัฐบาลและคณะกรรมการวัตถุอันตราย แบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการประชุมของคณะกรรมการเพื่อพิจารณายกเลิกและจำกัดการใช้วัตถุอันตราย ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ โดยคณะทำงานเพื่อพิจารณาความคิดเห็นจาก ๔ ฝ่าย ได้แก่หน่วยงานของรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี ได้มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ (๙:๐) ให้ปรับพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสจากวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สรุปข้อมูลและนำเสนอต่อกรรมการวัตถุอันตรายแล้วนั้น

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาชนจำนวน ๖๘๖ องค์กร เพื่อสนับสนุนข้อเสนอและมติของหลายหน่วยงาน ได้แก่ ๑) กระทรวงสาธารณสุข ๒) คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ๓) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ๔) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ๕) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๖) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ๗) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ๘) สภาเกษตรกรแห่งชาติ ๙) สภาเภสัชกรรม ๑๐) แพทยสภา ๑๑) ชมรมแพทย์ชนบท ๑๒) ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ๑๓) เครือข่ายประชาคมวิชาการของอาจารย์หลายคณะ หลายมหาวิทยาลัย ๑๔) เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ ๑๕) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ให้มีการแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ภายในธันวาคม ๒๕๖๒
เพื่อให้การพิจารณาควบคุมสารพิษดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใส ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และคำนึงถึงสุขภาพของเกษตรกรและประชาชนเป็นสำคัญ เครือข่ายฯจึงเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้มีการดำเนินการดังนี้

๑) ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายแสดงการมีส่วนได้เสียตามมาตรา ๑๒ วรรค ๒ ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕

๒) ให้คณะกรรมการพิจารณาปรับพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสจากวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ ตามข้อเสนอของคณะทำงานเพื่อพิจารณาความคิดเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกรและผู้บริโภคต่อการยกเลิกคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหลายหน่วยงานข้างต้น

๓) ให้คณะกรรมการลงมติแบบเปิดเผยพร้อมข้อวินิจฉัยส่วนบุคคล และเผยแพร่ต่อประชาชนและสื่อมวลชนทราบ

๔) ให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการจัดทำมาตรการสนับสนุนให้เกษตรกร ๔๕๕,๗๘๖ ราย ชนิด (คิดเป็น ๖.๖๙ % ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งประเทศ) ที่แจ้งความจำนงและสอบผ่านเกณฑ์การใช้สารพิษ ๓ ชนิด ให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่ไม่ต้องพึ่งพาสารพิษร้ายแรง โดยใช้วิธีกล เครื่องจักรกลการเกษตร การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชแบบผสมผสาน วิธีชีวภาพอื่นๆ หรือในกรณีจำเป็นก็อาจใช้สารทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

๕) ในระยะยาวให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมาตรการสนับสนุนเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ต้นทุนสูง แต่เกษตรกรขายได้ในราคาต่ำ ไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ

๖) ให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตามระดับความเป็นอันตรายเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจากผลกระทบภายนอก (pesticide externalities) ที่มีมูลค่าประมาณ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องสูญเสียไปกับการรักษาสุขภาพและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยนำภาษีที่เก็บได้ไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการจัดการวัชพืชและศัตรูพืชที่ปลอดภัยกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ทั้งนี้หากผลการพิจารณาตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นไปอย่างล่าช้า หรือมีการตัดสินใจที่ไม่ยึดหลักการปกป้องสุขภาพของประชาชน เครือข่ายจะยกระดับการเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชนในทุกภาคส่วน โดยใช้เครื่องมือตามกฎหมาย การรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการ การไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่สนับสนุนการใช้สารพิษร้ายแรง ตลอดจนการเคลื่อนไหวอื่นๆที่เหมาะสม จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายข้างต้น

วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๒