เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 กรมวิชาการเกษตรจัดประชุมเรื่อง “การประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินความเป็นอันตรายและผลกระทบภายหลังการใช้ เพื่อเสนอห้ามใช้หรือจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร” มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 100 คน มีหน่วยงานราชการ นักวิชาการ บริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งบรรษัทข้ามชาติ และบริษัทคนไทย ผู้ประกอบการค้าขายผัก ส่วนตัวแทนเกษตรกรที่เข้าร่วมในห้องประชุมเห็นได้ชัดว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้รับการชักนำมาจากบริษัทสารเคมี อีกกลุ่มคือเกษตรกรจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ประมาณ 70 คน เลือกที่จะไม่เข้าไปในห้องประชุม เนื่องจากเกรงว่าการจัดประชุมครั้งนี้จะเป็นแค่เพียงการจัดฉากเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการขึ้นทะเบียนสารพิษ พวกเขาจับกลุ่มชุมนุมอยู่ภายนอก เรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรปฏิเสธการขึ้นทะเบียนและยืนยันให้ยกเลิกสารพิษร้ายแรง 4 ชนิด คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น โดยทันทีปราศจากเงื่อนไข
แม้การประชุมนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการกำหนดเกณฑ์การพิจารณาว่า ควรใช้หลักอะไรบ้างในการห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตัวไหนบ้าง แต่กรมวิชาการเกษตรกลับสอดไส้เนื้อหาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับสารเคมีบางตัวอย่างแนบเนียน เช่น สอดแทรกข้อมูลการทดลองของเจ้าหน้าที่กรมที่บอกว่า คาร์โบฟูรานซึ่งประเทศอเมริกาห้ามใช้แล้วนั้นไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อแมลงศัตรูธรรมชาติในนาข้าวและไม่พบการระบาดเพิ่มของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล อีกทั้งยังให้ผู้เชี่ยวชาญวัตถุอันตรายอ้างสถิติว่ามีการพบการตกค้างของคาร์โบฟูรานเกินค่ามาตรฐาน (MRL)เพียง 10 ตัวอย่างจาก 32,147 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นเพียง 0.03% เท่านั้น เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ทั้งๆที่ข้อมูลนี้ขัดแย้งกับข้อมูลของหน่วยงานราชการด้วยกันเอง และตัวเลขการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ผู้ทรงคุณวุฒิสองคนที่ได้รับเชิญมางานนี้ คนหนึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการวัตถุอันตราย อีกคนหนึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดังด้านการเกษตรและเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของบริษัทสารเคมีต่างชาติและเคยมีตำแหน่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นที่รู้กันทั่วไปในแวดวงเกษตรว่าทั้งคู่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสมาคมของธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในระหว่างการประชุมพวกเขาแสดงทัศนคติโน้มเอียงไปในทางสนับสนุนกลุ่มบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างชัดเจน อีกทั้งไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นในการดำเนินการเพื่อให้มีการประกาศห้ามใช้สารเคมีดังกล่าวแต่ประการใด
มีเกษตรกร 2-3 คนที่แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุม คนแรกมาจากสมาคมชาวสวนมะม่วงที่ใกล้ชิดกับบริษัทดูปองท์ พวกเขาบอกเป็นนัยว่าเมโทมิลของดูปองท์นั้นมีความจำเป็นอย่างไรกับการผลิตมะม่วงส่งออก พร้อมกับโชว์มะม่วงน้ำดอกไม้พวงใหญ่ที่ผิวสวยสีเหลืองอร่ามปราศจากตำหนิใดๆให้ที่ประชุมดู ส่วนเกษตรกรอีกคนจากสุพรรณบุรีซึ่งแนะนำว่าตนเองเป็นผู้ประกอบการด้วย เขาบอกว่าคาร์โบฟูรานมีราคาถูกและมีความจำเป็นต่อการทำนาอย่างไร ส่วนเรื่องผลกระทบต่อปูปลานั้นไม่ต้องห่วงเพราะมันหายไปจากทุ่งนาไม่เหลือมานานแล้ว กลุ่มนี้เป็นเกษตรกรที่บริษัทเอฟเอ็มซีจัดให้ ดีไม่ดีเกษตรกรผู้นี้นี้อาจเป็นเอเย่นต์ของคาร์โบฟูรานของเอฟเอ็มซีก็เป็นได้
เจ้าหน้าที่ของเอฟเอ็มซีซึ่งวันนั้นมีผู้บริหารระดับภูมิภาคชาวมาเลเซียบินมาร่วมด้วย พยายามแย้งข้อมูลของไทยแพนกรณีอีพีเอสหรัฐ และศาลสูงสหรัฐมีคำตัดสินยืนยันห้ามใช้คาร์โบฟูรานในสหรัฐแล้ว โดยอ้างว่าที่จริงเป็นการสมัครใจถอนของพวกเขาเอง และสหรัฐเองแม้จะห้ามใช้ในประเทศตัวเองแต่ก็ยินยอมให้มีการนำเข้าผลผลิตจากต่างประเทศแม้จะมีการใช้สารนี้(เพื่อสร้างความชอบธรรมตนสามารถส่งออกสารพิษที่ตัวเองไม่ใช้แล้วไปให้ประเทศอื่น) การแถลงของเอฟเอ็มซีได้รับการสนับสนุนโดยทันควันจากสมาคมสารพิษไทย โดยอ้างว่าการที่ประเทศอื่นๆแบนไม่ใช่เหตุผลที่ประเทศไทยจะแบนสารนั้นไปด้วย เบื้องลึกของการแสดงท่าทีของสมาคมนี้ก็เนื่องมาจากกลุ่มนี้ถูกค่อนขอดจากกลุ่มบริษัทสารเคมีต่างชาติว่า กลุ่มบริษัทสารพิษท้องถิ่นไม่ยอมออกแรง ทั้งๆที่หากคาร์โบฟูรานของเอฟเอ็มซีได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้ พวกบริษัทสารพิษท้องถิ่นที่นำเข้าจากจีนก็ได้ประโยชน์ไปด้วย ครั้งนี้สมาคมคนไทยจึงต้องแสดงตัว ยอมเปลืองตัวทั้งๆที่ได้พยามสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเองพยายามทำให้วงการสารพิษทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมาโดยต่อเนื่องก็ตาม
ดูปองท์ซึ่งมีผู้บริหารระดับภูมิภาคจากสิงคโปร์มาร่วมด้วยไม่ได้แสดงบทบาทมากนักนอกจากวิจารณ์ว่ากลุ่มผู้บริโภคตื่นเต้นเกินเหตุ กรณีที่มีการเผยแพร่ผลการตรวจผักที่พบว่ามีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานถึง 40% บริษัทนี้อาจชาญฉลาดในการจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงออกมาผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนเมโทมิลแทนตนได้ แต่การวิจารณ์องค์กรผู้บริโภคที่มีการสุ่มตรวจผักที่มีห้องปฏิบัติการของรัฐเป็นผู้ทดสอบ และมีการศึกษาเรื่อง MRLมาอย่างดีนั้นอาจไม่ฉลาดมากนัก บางทีสายสัมพันธ์ของบริษัทพวกนี้กับกลุ่มนักวิชาการและผู้บริหารของกรมวิชาการเกษตรรวมทั้งสื่อมวลชนสายเกษตรบางกลุ่มที่ทำงานให้กับพวกเขามาหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีการคัดค้านการเก็บภาษีสารเคมี การกดดันให้ขยายเวลาการขายวัตถุอันตรายที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน ฯลฯ อาจทำให้พวกเขาลำพองใจ คิดว่าพวกเขาควบคุมเกมส์ในการขึ้นทะเบียน และการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในครั้งนี้ได้กระมัง ?
ไฮไลท์ที่แท้จริงในการจัดประชุมครั้งนี้ คือการที่นักวิชาการผู้กล้าหาญจากกรมการข้าว ประกาศว่ากรมวิชาการเกษตรไม่เปิดโอกาสให้กรมการข้าวเข้าร่วมในการดูการขึ้นทะเบียนและการพิจารณาแบนสารเคมีเลย ทั้งๆที่กรมการข้าวมีงานวิชาการและหลักฐานที่ยืนยันว่าไม่สมควรอนุญาตให้คาร์โบฟูรานขึ้นทะเบียน นักวิชาการผู้นี้ยังตัดพ้อด้วยว่า ขนาดกรมการข้าวซึ่งดูแลพื้นที่การเกษตรครึ่งหนึ่งของประเทศยังไม่มีส่วนร่วมเลยแล้วจะหวังการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไปได้อย่างไร?
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สังคมไทยได้เห็นสายสัมพันธ์ของกลุ่มบรรษัทสารเคมีการเกษตร ที่มีอิทธิพลครอบงำกลไกการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตราย หรือผู้บริหารบางคนในกรมวิชาการเกษตร ส่วนผู้เล่นกลุ่มสำคัญอีกกลุ่มคือนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯนั้น ครั้งนี้พวกเขาไม่ได้แสดงตนว่ากำลังทำอะไรอยู่และคิดอะไรอยู่ แต่ในท้ายที่สุดเราคงจะได้เห็นจุดยืนของคนกลุ่มนี้เมื่อระยะเวลาในการตัดสินใจให้ขึ้นทะเบียนหรือแบนสารพิษเหล่านี้ใกล้เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนวันที่ 30 กันยายน 2555 ที่อธิดีกรมวิชาการเกษตรคนปัจจุบันจะเกษียณอายุ หรือก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2556 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่คาร์โบฟูราน และเมโทมิลที่นำเข้ามาแล้วจะสามารถขายในประเทศได้ (ในกรณีที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน)
ไม่มีใครไม่เชื่อหรอกว่าธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมูลค่า 60,000 – 80,000 ล้านบาทนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่เป็นผู้คัดเลือกว่าใครจะเป็นอธิบดีในกระทรวงที่ตนดูแลอยู่ ?
แม้ยากจะทำลายพันธมิตรแห่งสารพิษซึ่งเป็นเครือข่ายผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงคนหลายกลุ่มเข้าด้วยกันได้อย่างราบคาบ แต่การเห็นความตื่นตัวของผู้บริโภค การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายเกษตรกร นักวิชาการอิสระ และข้าราชการที่กล้าหาญ ทำให้เชื่อว่าพันธมิตรแห่งสารพิษนี้จะอ่อนกำลังลงบ้าง อย่างน้อยสารพิษที่หลายประเทศเลิกใช้ไปแล้ว จะหมดไปจากสังคมไทยเสียที