เครือข่ายประชาสังคมหนุนรัฐเข้มขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเวลาที่ กม.กำหนด

เครือข่ายเกษตรกร องค์กรสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายผู้บริโภค แถลงข่าวสนับสนุนการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดย รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าภาครัฐต้องเข้ามาดูแลควบคุมการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเคร่งครัดเพราะการขยายเวลาจะยิ่งก่อให้เกิดการทะลักเข้าของสารเคมีที่อันตรายร้ายแรงหรือสารคุณภาพต่ำที่จะไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนอีกต่อไป พร้อมกับสนับสนุนว่าข้อมูลจากห้องแล็บที่ได้มาตรฐาน GLP (Good Laboratory Practice) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลนั้นมีความจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาการนำเข้าและใช้สารเคมีคุณภาพต่ำ ข้อมูลเหล่านี้อยู่ในมือของผู้ประกอบการอยู่แล้วเว้นแต่จะมีนัยทางการเมืองเพื่อบิดเบือนเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551 ที่จะคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจากสารพิษอันตราย
“ไม่เห็นด้วยกับผู้ประกอบการที่ไม่เคารพกติกาเพราะเวลาที่หน่วยงานรัฐให้ก็มีมากพออยู่แล้ว หน่วยงานรัฐจะต้องเข้มแข็ง ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การขยายเวลาขึ้นทะเบียนออกไปตามแรงกดดันของผู้ประกอบการอาจทำให้สารเคมีที่คุณภาพต่ำและมีพิษสูงวางขายอยู่ในตลาดต่อไปจนกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ดังปัจจุบันที่คนไทยป่วยเป็นมะเร็งจำนวนมากซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญก็คือการบริโภคอาหารปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั่นเอง”
ส่วนนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวว่า กฎหมายให้เวลาแบบเอื้อเฟื้อแก่ผู้ประกอบการมากเพราะมีเวลาถึง 3 ปีครึ่งตั้งแต่มีการประกาศพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551 ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์2551 โดยระหว่างนั้นก็มีการพิจารณาร่วมรับฟังความคิดเห็นระหว่างผู้ประกอบการสารเคมีและหน่วยงานรัฐอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และแม้จะนับตั้งแต่วันที่กรมวิชาการเกษตรมีประกาศเรื่องการขึ้นทะเบียนหรือ 13พฤศจิกายน 2552 ก็ยังมีเวลามากถึง 1 ปี 9 เดือน 10 วัน
 “เหตุผลเบื้องหลังการขอเลื่อนเวลาขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช คือ 1) เพื่อยืดเวลาขายวัตถุอันตรายที่ไม่มีมาตรฐานออกไปอีก 2 ปี ซึ่งหมายความว่าตลาดจะทะลักด้วยสารเคมีอันตราย ไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีคุณภาพ ปัญหาตามที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้างว่าจะขาดแคลนสารเคมีจึงไม่จริง แต่ที่จริงและน่ากังวลก็คือการใช้สถานการณ์เพื่อขึ้นราคาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2) จากการที่ต้องขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายใหม่หมด สารเคมีที่อยู่ในบัญชีเฝ้าระวังและหลายประเทศห้ามใช้แล้ว เช่น เมโทมิลและคาร์โบฟูราน ก็อาจจะถูกยื่นเข้ามาจดทะเบียนด้วยเหมือนกัน ซึ่งด้วยแรงกดดันของผู้ประกอบการก็อาจทำให้มีการขึ้นทะเบียนได้ 3) การขอแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เนื่องจากบริษัทสารเคมีเหล่านี้มีอำนาจและใกล้ชิดฝ่ายการเมือง จึงขอให้มีการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนออกไปได้ และในขณะเดียวกันก็ทำให้การขอขึ้นทะเบียนกระทำได้ได้โดยง่ายด้วย” นายวิฑูรย์กล่าว
ด้านนายอุบล อยู่หว้า พร้อมกับตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เครือข่ายชาวนาสุพรรณ และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ชี้แจงว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่มีความจำเป็นต่อการทำอาชีพเกษตรกรรม หากแต่ผู้ประกอบการใช้กลไกบิดเบือนด้วยการโฆษณาแต่ด้านดีจนคนทั่วไปมองไม่เห็นพิษภัยร้ายแรงของสารเคมีอันตราย และยังทำให้เกษตรกรตกเป็นเป้าของสังคมเมื่อเกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในอาหารทั้งๆที่บริษัทเคมีเกษตรและรัฐก็ต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมด้วย ส่วนการกล่าวอ้างว่าผลผลิตจะลดลงถ้าไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นเป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมเท่านั้น เกษตรอินทรีย์ที่เครือข่ายทำอยู่เป็นข้อพิสูจน์แล้วถึงความไม่จำเป็นของการใช้สารเคมี ดังนั้นรัฐจะต้องทบทวนนโยบายที่สนับสนุนเกษตรเคมีเสีย และให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์ที่ดีต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เครือข่ายเกษตรกร องค์กรสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายผู้บริโภคมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม 4 ประการด้วยกัน คือ 1) วิกฤตสารเคมีเกษตรใหญ่หลวงมาก ผลกระทบมากมายมหาศาล จึงควรใช้โอกาสนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรกรรมไปสู่เกษตรอินทรีย์และส่งเสริมการกำจัดศัตรูพืชด้วยชีววิธี สารชีวภาพ และสมุนไพร 2) เครือข่ายจะจับตากระทรวงเกษตรฯ ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะการขอขึ้นทะเบียนสารเคมีที่หลายประเทศแบนแล้ว 3) ประสานความร่วมมือเครือข่ายวิชาการ ThaiPANเพื่อสร้างความตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และ 4)พิจารณาการฟ้องร้องกรณีที่หน่วยงานของรัฐย่อหย่อนหรือออกประกาศหรือระเบียบที่ขัดต่อกฎหมายเพื่อคุ้มครองคุณภาพชีวิตเกษตรกร ผู้บริโภค และสังคม ไม่ให้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว