ทุเรียนปลอดภัยจากสารเคมีหรือไม่?

ในทุกปีจะมีเพียงหนึ่งฤดูกาลเท่านั้นที่เหล่านักชิมทุเรียนทั่วประเทศรอคอย เหล่าทุเรียนเลิฟเวอร์จำนวนมากจำต้องเสาะแสวงหาทุเรียนทุกสายพันธุ์มาลิ้มลองราวกับเป็นภารกิจประจำปี เหล่าทุเรียนหลากสายพันธุ์ปรากฏทั้งในท้องตลาดและในโลกออนไลน์ล้วนด้วยราคาสูงลิบลิ่วอดสร้างคำถามให้เหล่านักชิมไม่ได้ว่าเจ้าก้อนเนื้อนุ่มนิ่มหอมหวานบอบบางนี้ปลอดภัยจากสารเคมีมาเพียงใด ทั้งที่หลบซ่อนตัวภายใต้เปลือกหนามแหลมอันแข็งแรงขนาดนี้แล้วจะกันสารเคมีที่ฉีดพ่นผ่านมาได้ไหม ในบทความนี้มีคำตอบ

ใส่เยอะไว้ก่อน แน่นอนกว่า!?

เกษตรกรทั่วโลกนิยมการใช้ปุ๋ยเคมีสูตรที่มีความเข้มข้นสูง เชื่อว่ายิ่งแรงยิ่งดี ศัตรูพืชยิ่งตายไวพืชผลยิ่งจะได้งอกงาม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างยิ่ง และความเข้าใจผิดนี้จะนำไปสู่การดูแลพืชผลแบบผิดๆ ทำลายต้นทุนในธรรมชาติที่พวกเขามีเป็นวงจรไปเรื่อยๆอีกนานแสนนาน การใช้สารเคมีเกินความจำเป็นในสวนก่อให้เกิดการตกค้างของสารเคมีเกิดเป็นกรดสะสมในดิน จุลินทรีย์ดีๆในดินพากันอ่อนแรงล้มตาย และเมื่อดินดีกลายเป็นพิษ พืชจะขับเยื่อเมือกออกมาจากรากเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ได้รับพิษจากดิน ทำให้ดูดสารอาหารขึ้นมาหล่อเลี้ยงลำต้นไม่ได้ด้วย เมื่อเข้าสู่วงจรอุบาทว์นี้เสียแล้ว เหล่าเกษตรกรก็จะนิยมฉีดพ่นปุ๋ยทางใบแทนเพราะพืชผลจะฟื้นตัวสวยงามขึ้นทันตาเห็น (คล้ายกับเราไม่มีแรงกินข้าวทางปาก เลยกินอาหารทางสายยางแทน ก็ทำให้มีแรงขึ้นมาได้เหมือนกัน) แต่วิธีนี้มันคือการแก้ปัญหาปลายเหตุ แถมยังเพิ่มวงจรการทำลายผืนดินไปเรื่อยๆ เมื่อพืชยังคงต้องการธาตุอาหารสำคัญอยู่แต่ดินกลับเสื่อมโทรมลงทุกวันยาวนานจนยากจะแก้ไข สูตรยาเคมีที่แสนพิสดารมากมายยิ่งถูกคิดค้นขึ้นมาแก้ปัญหา แม้ได้ผลดียิ่งทำลายดินเข้าไปใหญ่ เหมือนกับการกินยาเกินขนาด

เกษตรกรไทยเองก็นิยมสูตร ”ใช้เยอะไว้ก่อน” เช่นกัน เนื่องจากทุเรียนมีระยะที่ศัตรูพืชเข้าโจมตีแตกต่างกัน ในความเป็นจริงการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในทุเรียนจึงหลากหลายมากกว่าที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำไว้มาก หน้าร้านขายยาเคมีจึงมีการจัดชุดยาเคมีหลากหลายสูตรให้เกษตรกรเลือกซื้อหาอย่างจุใจ บางครั้งพบว่าใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 ยี่ห้อผสมกันทั้งๆที่เป็นชนิดเดียวกัน แม้จะเห็นผลดี แต่มีอันตรายร้ายแรงมาก กระทั่งเชื่อว่ายาฆ่าแมลงนั้นฆ่าแต่แมลงเท่านั้น (แต่ไม่ได้ฆ่าคน!) เลยเอามือลงไปกวนผสมยาสบายๆ ชิลๆ หน้าตาเฉย การให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยกับเกษตรกรจึงสำคัญมาก หากดินมีปัญหา วิธีแก้ไขที่ถูกต้องไม่ใช่การให้ยาแรงๆแก่ดิน แต่เป็นการรู้จักพื้นที่ วิเคราะห์ผืนดิน คอยหมั่นวัดค่าดินของเราเสียก่อนเพื่อเติมสารอาหารให้เหมาะสม เพิ่มอินทรียวัตถุเพื่อให้จุลินทรีย์มีชีวิตเกิดขึ้นมาเองในดินอีกครั้งต่างหาก การใช้วิธีแบบ IPM (การป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน) ก็เป็นทางเลือกที่ดี ที่สำคัญคือต้องคอยจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอ และทดลองกับพื้นที่ของตนเองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีในสวนเกษตรไม่ใช่เรื่องต้องห้ามเสียทีเดียว (หากไม่ใช่สวนเกษตรอินทรีย์) ปัจจุบันประสิทธิภาพของสารเคมีทางการเกษตรดีขึ้นมาก สารเคมีสามารถสลายตัวได้เร็ว ตกค้างในดินน้อยลง เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตเองก็พยายามปรับตัวเปลี่ยนสูตรให้เหมาะสมเช่นกัน สำคัญคือผู้ใช้ต้องใช้อย่างมีความรู้ บางครั้งเกษตรกรเลือกฉีดพ่นสารเคมีตามตารางแนะนำ แต่ในความเป็นจริงแมลงในสวนของตนไม่ได้ระบาดเพิ่มจำนวนตามตารางเสียทั้งหมด ยิ่งใช้สารเคมีเยอะก็ยิ่งสิ้นเปลืองเพิ่มต้นทุนเข้าไปอีกต่างหาก

แล้วทุเรียนที่เรากินมีสารเคมีตกค้างไหมเนี่ย?

สารเคมีตกค้างในผักผลไม้เท่าไหร่จะสามารถบ่งชี้ได้ด้วยค่า MRLs (Maximum residue levels) ซึ่งเป็นค่าที่ถูกกำหนดไว้ว่าผักผลไม้นั้นๆว่าต้องมีสารพิษตกค้างไม่เกินที่กำหนดไว้จึงจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ค่าที่ว่านี้ถูกกำหนดโดยอย. ซึ่งหากพิจารณาตลาดทุเรียนไทยในต่างประเทศพบข้อมูลว่า ปี 2015 ทุเรียนที่ส่งออกไปยังฮ่องกงตรวจพบเจอขมิ้นเพื่อให้สีเหลือง และ อีทีฟอน (ethephon) บริเวณขั้วจุก (เพื่อช่วยให้ทุเรียนสุก) ซึ่งสารดังกล่าวสามารถแตกอนุพันธ์ได้เป็น เอทิลีน (ethylene) ที่มีค่า MRLs เกินค่ามาตรฐาน อย่างไรก็ตามเกณฑ์ของแต่ละหน่วยงานอาจนำมาเปรียบเทียบกันตรงๆไม่ได้ เพราะการพิจารณาเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับเก็บตัวอย่างการตรวจในครั้งนั้นๆด้วย เช่น ในประเทศญี่ปุ่นจะมีการประกาศชัดเจนว่าปีนี้จะมีการเฝ้าระวังสารพิษชนิดใดเป็นพิเศษ ดังนั้น การบอกว่าทุเรียนจากที่ใด มีสารพิษประเภทใด มากน้อยแค่ไหน จึงเป็นข้อมูลที่สรุปและนำมาเปรียบเทียบกันได้ยาก จำเป็นต้องดูขอบเขต และหลักเกณฑ์การตรวจวิเคราะห์ของครั้งนั้นๆเป็นสำคัญ (เช่น บางการเก็บตัวอย่าง นำทั้งเปลือกทุเรียนมาตรวจ แต่บางครั้งนำเฉพาะส่วนที่กินได้มาตรวจ) งานวิจัยของไทยเองที่น่าสนใจคืองานวิจัยของศิริพันธ์ สุขมาก (2546) โดยกรมวิชาการเกษตร ได้ทดลองฉีดพ่น เมทามิโดฟอส (Methamidophos) ใน 2 ลักษณะ คือฉีดในทุเรียนตามปริมาณที่ฉลากข้างขวดแนะนำกับฉีดให้มากกว่าเป็น 2 เท่าที่ฉลากแนะนำ หลังจากนั้นทิ้งไว้ 30 วันเพื่อให้สารสลายตัว พบว่ายังคงมีสารเคมีดังกล่าวตกค้างถึงในเนื้อทุเรียนอยู่ในปริมาณมากเนื่องจากเป็นสารเคมีชนิดดูดซึม หมายความว่าสารเคมีที่ฉีดพ่นในทุเรียนมีโอกาสตกค้างในเนื้อทุเรียนที่เรากินได้ (แม้ฉีดพ่นที่ภายนอก) จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของสาร ระยะเวลา และปริมาณการฉีดพ่น

ทุเรียนอินทรีย์ดีจะตาย จะไปใช้สารเคมีทำไมกัน?

เพราะเกษตรกรใช้สารเคมีในสวนทุเรียนมันไม่ใช่แค่เรื่องของเกษตรกรเพียงอย่างเดียวนะสิ แต่ผู้บริโภคต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญ เมื่อทุเรียน มังคุด หรือเงาะมีราดำ แม่ค้าและคนกินจะไม่แน่ใจว่ามันยังกินได้หรือไม่ แต่แน่นอนว่าหน้าตาไม่สวยไม่น่ากินเอาเสียเลย เจ้าพวกมีราดำนี้จะถูกแม่ค้าโยนทิ้ง ไม่รับซื้อ เกษตรกรเลยไม่มีทางออกนอกจากหาทางป้องกันราดำที่เข้ามาวอแวก่อกวนหัวใจพวกนี้ออกไปให้หมดสิ้น ปัญหาจึงวนลูปไปมาเช่นนี้ สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการสร้างความรับรู้ให้กับคนกิน ว่าสินค้าเกษตรไม่มีทางเพอร์เฟค ถ้าคนกินเข้าใจก็จะทำให้เกษตรกรมีทางออกมากขึ้น แน่นอนว่าเกษตรกรจะชื่นใจเสียอีกเพราะคงไม่มีใครตื่นมาแล้วบอกตัวเองว่า “วันนี้ฟ้าสดใสจัง ฉันอยากออกไปพ่นยาจังเลย..” ไม่มีแน่ๆ

ถ้าจะปลูกทุเรียนทั้งที ไม่ใช้สารเคมีเลย เป็นไปได้ไหม?

การปลูกทุเรียนโดยไม่ใช้สารเคมีอาจทำได้หากอยู่ในระบบนิเวศที่เหมาะสม มีต้นน้ำ สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ทุกอย่าง สิ่งมีชีวิตในสวนต้องสามารถจัดการกันเองได้ ทุกสิ่งในสวนสัมพันธ์ต่อกันหมด และที่สำคัญสวนนั้นๆก็ต้องรอบไปด้วยพื้นที่ที่ไม่ใช้สารเคมีด้วยเช่นกัน แต่ระบบนิเวศในประเทศไทยปัจจุบันแทบไม่มีความเป็นไปตามอุดมคตินั้นได้เลย การปลูกทุเรียนเพื่อกินเองอาจพอจะทำได้ แต่หากปลูกทุเรียนเพื่อการค้าจะต้องปลูกจำนวนมาก ต่อให้ไม่ใช้สารเคมีในการปลูกเลย แต่เมื่อนานวันไปทุเรียนจะเกิดโรคสะสมซึ่งทำให้ต้องใช้ยาเคมีอยู่ดี ฉะนั้นคงต้องยอมรับว่ามีการใช้สารเคมีอยู่บ้างในสวนทุเรียน แต่การตกค้างของสารเคมีที่เหลืออยู่ควรอยู่ในปริมาณที่ยอมรับได้

หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหละก็ การเลือกยาเคมีในสวนทุเรียนก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องเรียนรู้ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมในสวนแต่ละแห่งบางครั้งยาเคมีทั่วไปในท้องตลาดทั่วไปอาจไม่เหมาะสม จึงแนะนำให้เลือกชนิดที่มีราคาสูงขึ้นให้ทำลายได้ทั้งตัวแก่ ตัวอ่อน และไข่ เทคนิคการฉีด (การเลือกหัวฉีด/ช่วงเวลาการฉีด) ก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น ยากำจัดไรแดงต้องบนใบ เหนือลม โดยฉีดให้เป็นฝอยและเปียกทั้งหมด (หากเป็นคลอร์ไพริฟอสจะฉีดลักษณะไหนก็ได้เพราะเป็นไอระเหย) หรือบางครั้งพบว่าใช้ยาฆ่าแมลงกำจัดไรแดง ทั้งที่จริงแล้วไรแดงคือแมง การใช้ยาผิดประเภทอาจกำจัดได้ในช่วงสั้นๆ แต่ในระยะยาว ไรแดงจะแข็งแรงและต้านทานโรคมากขึ้น อย่างไรก็ตามรายละเอียดและวิธีการใช้สารเคมีไม่เคยมีสูตรสำเร็จ เกษตรกรต้องศึกษาสวนตัวเองให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมและปัญหาที่ตัวเองเจอ สังเกต จดบันทึก แล้วปรับไปตามความเหมาะสม และสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือความเคารพต่อผู้อื่น อาจเลือกสารเคมีที่ราคาแพงสักหน่อยหากลดกลิ่นเคมีที่ไปรบกวนเพื่อนบ้านได้ หรือหากอยู่ระหว่างช่วงฉีดยาต้องมีการแจ้งเตือนผู้ผ่านไปมาหรือบ้านใกล้เคียง การอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่เกษตรกรทุกคนพึงมีเสมอมา

 

ฉลากปริศนาข้างขวดยาเคมี

ขวดสารเคมีในประเทศไทยจะมีแถบสี แดง เหลือง และเขียว ระบุไว้ด้านข้างเพื่อบ่งบอกว่าสารเคมีในขวดนั้นมีความเป็นพิษขนาดไหน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอแก่เกษตรกรเลย แม้จะเข้าใจตรงกันว่าสีแดงหมายถึงมีพิษรุนแรง เมื่อใช้แล้วไม่ว่าจะหนอน หรือแมลงก็น็อกตายคาที่แน่นอน แต่นั่นคือความหมายของความเป็นพิษเฉียบพลันที่ไม่ได้มองถึงพิษเรื้อรังที่จะเกิดตามมา ในต่างประเทศ ฉลากข้างขวดสารเคมีจะมีรายละเอียดที่มากไปกว่านี้ มีการเตือน WARNING บนฉลากโดยบ่งชี้ถึงผลระยะยาวที่คนใช้จะได้จากการใช้สารเคมีขวดนี้เลย เช่น พิการแต่กำเนิด และมีโอกาสเป็นหมัน ซึ่งทำให้เกษตรกรมีโอกาสที่จะไม่เลือกใช้หรือใช้อย่างระมัดระวังมากขึ้น

ฉลากข้างขวดของสารเคมีชนิดคาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ในต่างประเทศที่ระบุคำเตือนอย่างชัดเจนว่ามีส่วนประกอบของสารที่เป็นสาเหตุของการพิการแต่กำเนิดและการผลิตสเปิร์มของสัตว์ทดลอง
ฉลากข้างขวดของสารเคมีชนิดอิมิดาคลอร์พริด (Imidacloprid) ในต่างประเทศมีข้อบ่งใช้ชัดเจนว่า ต้องใช้ตอนไม่มีฝนตกมาแล้วอย่างน้อย 48 ชม. และไม่มีการไหล่บ่าออกนอกพื้นที่ เพื่ออปกป้องต่อสิ่งมีชีวิตอื่นนอกเป้าหมายและการตกค้างในสิ่งแวดล้อม

เมื่อเพื่อนรักออกอาละวาด ศัตรูพืชคู่ใจชาวสวนทุเรียน

การใช้สารเคมีเพียงอย่างเดียวกำจัดและควบคุมศัตรูพืชในสวนทุเรียนสามารถทำได้ง่าย และรวดเร็ว แต่ให้ผลดีในระยะสั้นเท่านั้น หากเป็นไปได้ควรเลือกวิธีทางธรรมชาติหรือใช้วิธีผสมผสานเพื่อระบบนิเวศระยะยาว อย่างไรก็ดี มีศัตรูพืชขาประจำที่มาแวะเวียนชาวสวนทุเรียนอยู่เสมอ ลองเลือกวิธีเหล่านี้เป็นแนวทางในการอยู่ร่มกับพวกมันอย่างไม่เสียสุขภาพกาย สุขภาพใจมากเกินไปดีกว่า

ด้วงหนวดยาว

ออกอาละวาดในช่วงหน้าฝน เนื่องจากเป็นแมลที่แข็งแรงมาก ตัวแก่จะเจาะต้นและเข้าไปวางไข่ เมื่อตัวอ่อนฟักจะไชเข้าใต้เปลือกไม้แล้วเจาะกินรอบต้นจนกระทั่งท่อลำเลียงอาหารถูกตัดและต้นทุเรียนจะแห้งตายในที่สุด ให้คอยหมั่นสำรวจแปลงเป็นระยะ ลองหาตาข่ายหรืออวนพันรอบต้น หมั่นสังเกตว่ารอบต้นมีขุยเปลือกทุเรียนอยู่ใกล้ๆหรือไม่ ลองใช้ไขควงงัดเจาะดู หากเจอตัวด้วงให้ทำลาย ถ้าหาตัวไม่เจอ ให้หาช่องอุโมงค์ของมัน (ลองเคาะจะมีเสียงโปร่ง) แล้วใช้ยาฉีดเข้าทำลาย แลหมั่นกำจัดกองใบไม้ด้วยสารชีวภัณฑ์เมทาไรเซี่ยม (สีเขียว) เพื่อลดแม่พันธุ์เนื่องจากด้วงหนวดยาวจะฟักตัวในดิน

เพลี้ยไก่แจ้

ให้เลือกใช้สารเคมีกำจัดกลุ่มแมลงปากดูด  แต่ต้องเลือกใช้ยาให้หลากหลาย อย่าซ้ำซาก เน้นฉีดพ่นให้ถูกวิธีและถูกเวลา (เพราะมักเป็นไอระเหย) ระวังอย่าปล่อยให้เพลี้ยเริ่มเยอะเกินไปจะกำจัดยาก เนื่องจากเพลี้ยไก่แจ้จะดูดน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน หากต้นทุเรียนไม่ได้แตกใบอ่อนทั้งต้น จะไม่สร้างปัญหามากนัก

หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (หนอนใต้) และ ไรแดง

หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนมักมาช่วงฝนแรกหลังดอกทุเรียนบาน ให้รีบกำจัดก่อนวางไข่ สามารถใช้วิธีธรรมชาติควบคุมได้ เช่น ใช้ไฟล่อไปที่บ่อน้ำหรือใช้ฝูงไก่ช่วยกำจัด ในขณะที่ ไรแดงเป็นศัตรูพืชที่น่ากลัวมาก จะเข้าทำลายใบแก่ หากปล่อยไว้นานจนมันสร้างใยห่อไว้จนใบร่วง นั่นหมายความว่าต้นถูกดูดอาหารจนโทรมแล้ว ต้องเลือกยาและทิศทางการฉีดให้ถูกต้อง

ไปกางเต็นท์ กินลม นอนชมดาวกลางสวนทุเรียนกันเถอะ

เพื่อนๆ เราขอถามหน่อย ถ้าเราจะไปนอนค้างคืนที่บังกะโลในสวนทุเรียนในประเทศไทยดีไหม? ชาวสวนทุเรียนไทยฉีดสารเคมีถี่รึเปล่า? แล้วถ้าเรานอนอยู่แล้วเขาฉีดยาเราจะหนีไปไหนกันดี??

นี่เป็นกระทู้คำถามในโลกอินเตอร์เนตที่เกิดขึ้นจากกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่กำลังจะมาท่องเที่ยวในประเทศไทย การหาคำตอบคงง่ายกว่านี้หากไปถามเจ้าของสวนทุเรียนี่พวกน้องเขาจะไปพักโดยตรง แต่แน่นอนว่าไม่น่าใช่ความจริงทั้งหมด จิรภัทร หนึ่งในเจ้าของสวนทุเรียนให้ข้อมูลว่า ชาวสวนจะไม่ฉีดยาฆ่าแมลงในช่วงดอกทุเรียนบาน (เว้นแต่เป็นช่วงที่มีดอกบานพร้อมใบอ่อน มีอากาศร้อน หรือมีวิกฤตแมลง) และช่วงที่ทุเรียนเริ่มแก่จนใกล้เก็บเกี่ยว (เว้นแต่มีฝนตกจนแตกใบอ่อน ชาวสวนจะเริ่มพ่นยาเพื่อรักษาใบอ่อน) ซึ่งกินช่วงระยะเวลาราว 30-40 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่สารเคมีเริ่มจางลง อย่างไรก็ดีในช่วงดอกทุเรียนบานเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการมานอนเล่น ทุเรียนจะบานช่วง 1-4 ทุ่ม แมลงก็ไม่ค่อยมี หากมีโอกาสได้ไปนอนในคืนลมโชย ให้ลองเอาไฟฉายไปส่องดูในคืนลมโช จะเห็นดอกทุเรียนโปรยเป็นสาย หอมหวนไปทั้งสวนเป็นที่สุด อย่างไรก็ดี ให้ลองสังเกตปริมาณของประชากรผึ้งที่เป็นตัวบ่งชี้ระบบนิเวศในสวนนั้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผึ้งมีหน้าที่ช่วยผสมเกสร โดยเฉพาะหากดอกทุเรียนบานตรงกับช่วงข้างขึ้นทุเรียนจะยิ่งได้ผลกลม (หมายความว่าถูกผสมทุกเกสร) แต่หากเป็นสวนทุเรียนที่มีการใช้ยาฆ่าแมลงมาก จำนวนผึ้งจะลดน้อยลง ส่งผลกับสุขภาพของทุเรียนอย่างเห็นได้ชัด เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ดูลมฟ้าอากาศ ฤดูกาลของทุเรียน มองพระจันทร์ข้างขึ้นข้างแรมเอาไว้ดีๆก่อนไปนอนค้างอ้างแรมกันหละเด็กๆ..

จงเป็นนักทดลองที่ดี เพราะ 1+1 2 เสมอไป

การปลูกทุเรียนปลอดสารเคมีแม้จะทำยาก แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย หากปลูกทุเรียนที่ใช้สารเคมีอยู่แล้ว ระยะปรับเปลี่ยนเป็นช่วงเวลาสำคัญ การลดปริมาณสารเคมีที่เคยใช้หรือหยุดใช้สารเคมีบางตัวน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในปีแรกๆที่เริ่มลดการใช้สารเคมีอาจพบว่าหนอนยังคงมาลงอยู่แต่จงใจเย็น มันจะน้อยลงเรื่อยๆในปีถัดไป ให้ค่อยๆปรับยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ เช่น หากปีไหนมีมดเยอะจึงค่อยฉีดยาฆ่ามด แต่อย่าฉีดเป็นประจำทุกปี (บางรายลดการใช้จนเหลือเพียงแค่ปุ๋ยเคมีและคลอร์ไพริฟอสเท่านั้น) หลังจากการปรับเปลี่ยนอาจทำให้ผลผลิตช่วง 1-2 ปีแรกหายไป หรือบางแปลงอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้นหากต้องปรับผืนดินให้กลับมาสมดุล หากเป็นเกษตรกรที่มีหนี้สินอาจเกิดผลกระทบมากจึงควรค่อยเป็นค่อยไป คำแนะนำอย่างง่ายที่สุดสำหรับผู้เริ่มต้น คือให้แบ่งพื้นที่ออกมา 30% แล้ววิเคราะห์ว่าโซลูชั่นไหนจะเหมาะสมกับสวนของตัวเอง ธรรมชาติของสวนผลไม้ไม่สามารถเห็นผลได้เร็วเหมือนแปลงผัก อาจใช้เวลา 5-10 ปี กว่าสวนอินทรีย์จะลงตัว สิ่งสำคัญที่สุดคือ จงลงแรงลงเวลากับการหาความรู้ กับการทดลองอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อย่ายึดมันกับวิธีใดเพียงอย่างเดียว รู้จักแมลงหรือศัตรูพืชในสวน รู้จักธรรมชาติในสวนตอนกลางวันและกลางคืน รู้จักนิเวศในสวนของเรา เชื่อตัวเอง เพราะตำราแต่ละเล่มใช้กับผืนดินเดียวกันไม่ได้.


เนื้อหาจาก

ผู้ร่วมเสวนา
ศักดา ศรีนิเวศน์ อดีตนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร
สุธี ปรีชาวุฒิ สวนทุเรียนอินทรีย์เขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี
จิรภัทร ปาลสุทธิ์ บ้านสวนวังศิลา จ.ระยอง
และ ปรกชล อู๋ทรัพย์

ดำเนินรายการโดย
แก้วตา ธัมอิน กินเปลี่ยนโลก