สารเคมีเกษตร ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ

 

ต้นทุนผลกระทบต่อเกษตรกร แท้จริงแล้วเป็นเช่นไร

หากพิจารณาในมิติเศรษฐศาสตร์ ต้นทุนของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชคงไม่จำกัดอยู่แค่ราคาที่เกษตรกรลงทุน ในการซื้อสารเคมี แต่รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เกิดจากโรคพิษเฉียบพลันและพิษสะสม ต้นทุนต่อความเสียหายในระบบนิเวศ และผลกระทบกรณีสารตกค้างในสินค้าเกษตรส่งออก การค้นหาข้อมูลต้นทุนที่แท้จริงจะช่วยสร้างความตระหนักว่าสังคมไทยต้องแลก อะไรกับการรักษาผลผลิตและการเติบโตของเศรษฐกิจทางการเกษตรในระยะสั้น

ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้าน บาทโดยที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และแนวโน้มมูลค่าการนำเข้าได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มของราคา น้ำมันที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของสารเคมีสังเคราะห์ทุกประเภท

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังเป็นภาระซ้ำเติมเกษตรกร เพราะมีสัดส่วนถึง 10% ของต้นทุนการผลิตต่อไร่ (กรณีการปลูกข้าวเชิงพาณิชย์) และอาจมีสัดส่วนมูลค่าสูงถึง 30% ของต้นทุนการผลิต (ในกรณีการปลูกสตรอเบอรี่ เป็นต้น) การที่เกษตรกรในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากการทำเกษตรด้วยตนเองเป็น “ผู้จัดการไร่นา” มากขึ้น ทำให้ต้องบวกเพิ่มค่าใช้จ่ายการว่าจ้างฉีดพ่นสารเคมี ทำให้ต้นทุนเกี่ยวกับสารเคมีในการทำการเกษตรยิ่งมีมูลค่าสูงขึ้นกว่าเดิมมาก ยังไม่นับค่ารักษาพยาบาลของเกษตรกรและครอบครัวที่ด้านสุขภาพเฉลี่ยประมาณ 1,000 กว่าบาท/คน/ปี และเพิ่มขึ้นอีก 1,000 บาท/ปี สำหรับผู้ที่รับจ้างฉีดพ่นสารเคมี

ต้นทุนผลกระทบภายนอกในระดับมหภาค

สำหรับการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ต้องพิจารณาถึงต้นทุนความเสียหายภายนอกอื่นๆ  Frauke Jungbluth (1996) ได้วิเคราะห์รวมต้นทุนการปนเปื้อนในอาหาร งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ และปัญหาจากการต้านทานของศัตรูพืช พบว่ามีต้นทุนรวมเฉลี่ยประมาณ 462.80 – 5,491.80 ล้านบาท/ปี ต่อมา ดร.สุวรรณา ประณีตวตกุล และคณะ ได้ปรับตัวเลขให้เป็นปัจจุบันมากขึ้นโดยใช้ข้อมูลของปี 2552 และพบว่ามูลค่าผลกระทบภายนอกสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อยู่ที่ประมาณ 671.39-11,588.90 ล้านบาท/ปี รวมทั้งได้ประยุกต์ใช้เทคนิคการประเมินที่เรียกว่า Pesticide Environmental Accounting เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนที่เกิดต่อเกษตรกรและแรงงานรับจ้าง ผู้บริโภค รวมไปถึงสัตว์และแมลงที่มีประโยชน์ ซึ่งพบว่า ต้นทุนผลกระทบภายนอกทั้งหมดเกือบเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรู พืชในแต่ละปี นั้นคือ 14,501 ล้านบาท และมีอัตราการเพิ่มขึ้น 14% ต่อปี ซึ่งหมายความว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยลงทุนเพื่อการใช้สารเคมีทั้งสิ้นกว่า 30,000 ล้านบาท (ต้นทุนการนำเข้า + ต้นทุนผลกระทบภายนอก) ดังนั้น ภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญในการจำกัดการใช้สารเคมีซึ่งส่งผลทั้งต่อเศรษฐกิจและ สุขภาวะของประชาชน ไม่ใช่สนับสนุนและส่งเสริมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น การอนุมัติงบประมาณหลายพันล้านบาท เพื่อซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกรณี การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว และการระบาดของเพลี้ยแป้งในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง

ความเสียหายต่อการส่งออก

วิกฤตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกสินค้า เกษตรไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งได้มีการเตรียมการที่จะระงับการนำเข้าผักส่งออกของไทย 16 ชนิด ในช่วงต้นปี 2554 เพราะการตรวจพบอัตราการปรากฏการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุดใน โลกในปี 2553 ที่ผ่านมา (ตรวจพบมากถึง 55 ครั้ง) และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการส่งออกผักมูลค่า 2,785 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเคยมีมาตรการกีดกันสินค้าพริกส่งออกจากไทยที่ทำให้เกิดความเสีย หายปีละประมาณ 800-900 ล้านบาท และสามารถส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังการส่งออกผักไทยไปยังประเทศอื่นๆ