รู้หรือไม่ กว่าคะน้าจะโตให้เรากิน ต้องฉีดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฉลี่ย 15-20 ครั้ง หากแมลงศัตรูพืชระบาดมาก ต้องฉีดสารเคมีมากที่สุดถึง 36 ครั้ง ต่อหนึ่งรอบการผลิต หรือประมาณ 45 วัน … คือ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกร 110 ครัวเรือนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน ที่ปลูกคะน้ามานานกว่า 45 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2510) สารเคมีกำจัดศัตรูพืช (pesticide) ที่ใช้หลัก ๆ มี 3 ประเภท คือ สารเคมีกำจัดวัชพืช (herbicide) สารเคมีกำจัดแมลง (insecticide) เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชหลัก คือ ด้วงหมัดผัก ด้วงหมัดดิน และหนอนชนิดต่างๆ และสารเคมีกำจัดโรคพืช (fungicide)
โดยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรใช้มีไม่ต่ำกว่า 30 ชนิด (กว่า 50 ชื่อการค้า) เช่น
สารเคมีกำจัดวัชพืช ได้แก่ ไกลโฟเซต ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม (glyphosate isopropyl ammonium) 2,4-ดี ไดเมททิลแอมโมเนียม (2,4-D dimethylammonium) อะลาคลอร์ (alachlor) ออกซีฟลูออร์เฟน(oxyfluorfen) ฮาโลซีฟอป-อาร์-เมทิล เอสเทอร์ (haloxyfop-R-methyl ester) ควิซาโลฟอป – พี – เทฟูริล (quizalofop-P-tefuryl)
สารเคมีกำจัดแมลง ได้แก่ คาร์โบฟูราน (carbofuran) เมโทมิล (methomyl) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) คาร์โบซัลแฟน (carbosulfan) ไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) คลอร์ฟีนาเพอร์ (chlorfenapyr) โทลเฟนไพเรด (tolfenpyrad) อะบาเม็กติน (abamectin) ไดโนทีฟูแรน (dinotefuran) อะเซตามิพริด (acetamiprid) ฟลูเบนไดอะไมด์ (flubendiamide) อินดอกซาคาร์บ (indoxacarb) โปรฟีโนฟอส (profenofos) คาร์บาริล (carbaryl) คลอร์ฟลูอาซูรอน (chlorfluazuron)
สารเคมีป้องกันและกำจัดโรคพืช ได้แก่ คาร์เบนดาซิม (carbendazim) เบโนมิล (benomyl) เมทาแลกซิล (metalaxyl) โพรพิโคลนาโซล+โพรคลอราซ( propiconazole + prochloraz ) คลอโรทาโลนิล (chlorothalonil)
นอกจากนี้ยังพบสารเคมีที่ไม่มีฉลาก หรือไม่ระบุชื่อสามัญ (ชื่อสารเคมี) เช่น คาใบ มูมู่ ซุปเปอร์ซันฮีโร่ อายูมิ 50 วี-เอ็กซ์ เป็นต้น
การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเข้มข้น เนื่องจากการระบาดของโรค แมลงและสัตว์ศัตรูพืช เป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ชนิดเดิมซ้ำๆ ในพื้นที่เดิม เป็นเวลานาน ซึ่งนอกจากจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแล้ว (ต้นทุนค่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของต้นทุนการผลิตทั้งหมด) เกษตรกรเองยังได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งในด้านสุขภาพที่เกิดการเจ็บป่วยจากการสัมผัสสารเคมี ด้านสังคมที่เกิดความขัดแย้งในชุมชนจากการฟุ้งกระจายของสารเคมีที่ฉีดพ่น และด้านสิ่งแวดล้อม จากการปนเปื้อนสารเคมีในดิน น้ำ และอากาศ ทำให้อาหารธรรมชาติที่เคยมีอยู่มากมายทั้งพืชผัก กุ้ง หอย ปู ปลา ก็ลดน้อยลงไป ที่เหลือรอดอยู่บ้างก็ไม่กล้าเก็บหามากิน เนื่องจากกลัวสารเคมีตกค้าง
นอกจากนี้แล้วสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็อาจจะหลงเหลือตกค้างในผลผลิต โดยเฉพาะสารที่มีการออกฤทธิ์แบบดูดซึม (systemic insecticide) อย่างเช่น สาร 3 ชนิดที่สังคมกำลังจับตามอง คือ คาร์โบฟูราน เมโทมิล และไดโครโตฟอส หากยังมีการตกค้างในผลผลิตไม่ว่าจะเป็นคะน้า หรือพืชผักชนิดอื่นๆแล้วล่ะก็ ผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่า ล้างอย่างไรก็ล้างไม่ออก