ศ.สมพนธ์ วรรณวิมลรักษ์และคณะ มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจผักคะน้า 117 ตัวอย่างใน 12 ตลาดที่จังหวัดนครปฐม พบว่ามีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 29.1% ในบรรดาสารพิษที่พบเกินมาตรฐานมากที่สุด 6 อันดับแรก มีคาร์โบฟูราน ซึ่งเป็นสารพิษร้ายแรงที่ไม่มีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนรวมอยู่ด้วย
นักวิชาการคณะนี้ยังได้ทำการทดลองการล้างผักคะน้าด้วยวิธีการต่างๆ โดยพบว่าแต่ละวิธีการให้ผลในการล้างสารแต่ละชนิดได้ไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่นในสารโพรฟีโนฟอส การล้างด้วยด่างทับทิม น้ำส้มสายชู และโซเดียมไบคาร์บอเนตได้ผลน้อยมาก (ล้างออกได้ 20-40%) แต่ล้างด้วยน้ำไหล จะล้างออกได้ครึ่งหนึ่ง ในขณะที่สารไซเปอร์เมทริน สามารถล้างออกครึ่งหนึ่งด้วยน้ำส้มสายชู แต่ล้างไม่ออก(ล้างออกได้เพียง 10-20%)ด้วยด่างทับทิม โซเดียมไบคาร์บอเนต และน้ำไหล
คำแนะนำให้ประชาชนแก้ปัญหาสารตกค้างโดยการล้างน้ำเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และปล่อยให้ผู้บริโภคต้องรับภาระ
ไทยแพนเสนอให้มีการยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบการตกค้างบ่อย เพราะเป็นปัญหาซ้ำซากซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถแก้ปัญหาการตกค้างได้ ต้องปฏิรูประบบการจัดการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งระบบ รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนเกษตรกรรมอินทรีย์ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
รายละเอียดเกี่ยวกับการประมวลความรู้จากทั่วโลกเกี่ยวกับปัญหาและทางออกของการล้างผัก ตลอดจนข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งระบบจะถูกนำเสนอในการประชุมวิชาการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26-27 มีนาคม 2558 นี้ ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์