รัฐกับบรรษัท: การสมรู้ร่วมคิดทำคนไทยเป็นพลเมืองชั้นสองของโลก

ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

 

กล่าวอย่างเคร่งครัดอาหารที่คนไทยบริโภคทุกวันนี้มีความไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่ขายเพื่อบริโภคภายในประเทศทั้งที่วางจำหน่ายในตลาดสด รถเร่ หรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรดที่อ้างว่ามีระบบตรวจสอบที่ดี ด้วยปัจจุบันพบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพิษร้ายแรงในสัดส่วนที่สูงมากทั้งแบบที่ประเทศไทยแบนไปแล้วแต่ยังสามารถซื้อหาได้ง่ายดายหลังร้านขายยาฆ่าแมลง และที่ยังไม่ได้แบนแต่มีพิษร้ายแรงยิ่งยวด โดยหนึ่งในกลุ่มสารเคมีอันตรายเหล่านั้นคือ คาร์โบฟูราน (carbofuran) เมโทมิล (methomyl) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และอีพีเอ็น (EPN) ที่ภาคประชาสังคมกำลังเรียกร้องให้มีการแบนโดยขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิตและนำเข้า

การปล่อยปละละเลยในระดับของการบังคับใช้กฎหมายภายใต้นโยบายรัฐที่เอื้อประโยชน์ต่อการกอบโกยกำไรของบรรษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชบนความเสื่อมทรุดด้านสุขภาพของประชาชนและความเสื่อมโทรมของสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการทุ่มงบประมาณโหมโฆษณาอย่างบ้าคลั่งของบริษัทสารเคมีท่ามกลางกติกากำกับควบคุมการโฆษณาและการขายตรงที่อ่อนแอที่ทำให้เกษตรกร ‘เสพติด’ นิสัยการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่เพียงจะสร้างผลกระทบถาวรต่อประเทศไทยทั้งในด้านของสุขภาพประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น แต่ยังทำลายระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมรรควิธีหนึ่งในการบรรลุระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ด้วย

การทำการตลาดกับเกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในประเทศโดยใช้การขายตรงและการโฆษณาที่ทำได้ทั้งในสื่อมวลชนกระแสหลักเช่นโทรทัศน์และวิทยุ และสื่อใหม่ทั้งทีวีดาวเทียมและวิทยชุมชนท้องถิ่น รวมถึงอินเทอร์เน็ตที่ทลายข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ (timeless & spaceless) ก็ทำให้ธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอิทธิพลล็อบบี้รัฐบาลให้กำหนดมาตรการกฎหมายและนโยบายที่ไม่ขัดขวางการทำกำไรของตนเองให้เป็น ‘ยักษ์ใหญ่’ ขึ้นไปอีก โดยอย่างน้อยสุดก็มีรูปธรรมเชิงประจักษ์ของการยืดระยะเวลาการขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชออกไปตามแรงล็อบบี้กดดันของบรรษัทสารเคมีแม้ว่าในข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับปรับปรุง พ.ศ.2551 กำหนดให้ทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทั้งหมดกว่า 27,000 รายการหมดอายุและให้มีการขึ้นทะเบียนใหม่เพื่อควบคุมการนำเข้าและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและ ผู้บริโภค และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศ ก็ตามที

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีเกษตรกรจำนวนมหาศาลที่ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อซื้อหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาใช้ในปริมาณมากๆ ตามการโฆษณาและการส่งเสริมการขายของบรรษัทสารเคมีและแรงเชียร์ของร้านค้าขายสารเคมีในท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีฤทธิ์รุนแรง และมีเกษตรกรจำนวนมากเช่นกันที่ต้องเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการใช้สารเคมีที่มีพิษเฉียบพลันและเรื้อรังเหล่านี้ รวมทั้งผู้บริโภคก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ ตั้งแต่มะเร็ง เป็นหมัน จนถึงการพิการของทารก

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการนำเสนอข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence based) ที่แสดงอันตรายร้ายแรงของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมี 4 ชนิดข้างต้น ตลอดจนมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางด้านผลกระทบทางสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจในระดับชาติ เช่น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติกับมติความปลอดภัยทางอาหาร: การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช สมัชชาปฏิรูประดับชาติกับข้อเสนอเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในภาคเกษตรซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในฐานะปัจจัยทางการผลิตที่สร้างความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ และข้อเสนอเชิงนโยบายของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ว่าด้วยการปฏิรูประบบควบคุมสารเคมีทางการเกษตรที่ต้องเข้มงวดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ที่ปรารถนาจะกำกับต้นธารความปลอดภัยด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการยับยั้งไม่ให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงซึ่งทั้งเพื่อนบ้านอาเซียน นานาอารยะประเทศ และประเทศที่ผลิตสารเคมีเหล่านี้ออกมาขายต่างก็เลิกใช้แล้วไม่ให้สามารถขายหรือใช้ได้อีกต่อไปในประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็นำเสนอแบบปฏิบัติที่ดีเลิศ (best practices) ด้านเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรกรรมยั่งยืนที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเลยแต่กลับให้ผลผลิตสูงกว่าเกษตรเคมีที่ใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นอีกด้วย

ทว่าก็ว่าเถอะสำหรับประเทศไทยที่อำนาจรัฐอยู่ใต้อาณัติอิทธิพลของกลุ่มทุนที่รวมถึงบรรษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พิษภัยของคาร์โบฟูรานที่เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง (Ib) เพราะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า สูญเสียการทรงตัว อ่อนเพลีย ความดันโลหิตสูง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีผลต่อเซลล์สมอง มีผลต่อทารกในครรภ์ เกิดกาลวิรูปในทารก และอนุพันธ์ของคาร์โบฟูรานยังเป็นสารก่อกลายพันธุ์และก่อมะเร็ง จนหลายประเทศประกาศเลิกใช้แล้ว เช่น สหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกาที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) พบว่าคาร์โบฟูรานที่ตกค้างในอาหารไม่ว่าอยู่ในระดับใดก็ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคจนมีคำสั่งยกเลิกการใช้ในพืชเกษตรทุกชนิดตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2552 กระทั่งสหรัฐซึ่งเป็นประเทศผู้วิจัยและผลิตคาร์โบฟูรานก็ไม่มีการใช้คาร์โบฟูรานแล้ว แต่ไทยกลับยังคงใช้ต่อไป โดยคาร์โบฟูรานมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณที่นำเข้าจะถูกนำไปใช้กำจัดศัตรูพืชในนาข้าวถึงแม้ว่ากรมการข้าวระบุว่าคาร์โบฟูรานทำลายระบบนิเวศเพราะมีการตกค้างในน้ำ โดยเฉพาะน้ำใต้ดิน เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ

เช่นกันกับเมโทมิลที่เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง (Ib) มีพิษเฉียบพลันรุนแรง ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ชักและสั่น และมีพิษต่อหัวใจ ระบบสืบพันธุ์ ยีน ไต ไขกระดูก ม้าม และตับ จนหลายประเทศยกเลิกการใช้แล้ว เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฟินแลนด์ อินเดีย (บางสูตร) สิงคโปร์ และลาว โดยเมโทมิลมีการสลายตัวช้ามากในบริเวณที่แสงอาทิตย์ส่องไม่ถึงจึงมีผลต่อสัตว์ทั้งในดินและในน้ำ ก็ยังคงมีควมพยายามของบรรษัทสารเคมีที่จะให้เมโทมิลได้ขึ้นทะเบียนเพื่อขายต่อไปในประเทศไทย

ไม่ต่างมากจากสถานการณ์ของไดโครโตฟอสที่เป็นอีกหนึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง (Ib) ที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เหงื่ออกมาก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ปอดบวมน้ำ อ่อนเพลีย และมีพิษเรื้อรังต่อระบบสืบพันธุ์ ก่อกลายพันธุ์ ยีน พัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์ และระบบประสาท ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็มีพิษเฉียบพลันทั้งต่อปลาและสัตว์ปีกทุกชนิด อีกทั้งงานวิจัยหลายชิ้นยังระบุว่าไดโครโตฟอสสามารถดูดซึมผ่านทางผิวหนังของสัตว์ เช่น กระต่ายและเป็ด ได้ภายใน 24 ชั่วโมง และสัตว์เหล่านั้นจะตายลงหลังสัมผัสสาร หลายประเทศจึงยกเลิกการใช้แล้ว เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน อินเดีย ปากีสถาน และสิงคโปร์ แต่กับไทยยังต้องดูกันต่อไป

ในขณะที่อีพีเอ็นซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง (Ia) เพราะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เหงื่อออกมาก แน่นหน้าอก มองไม่ชัด ตาพร่า กล้ามเนื้อกระตุก สูญเสียการทรงตัว หายใจสั้นและลำบาก มีพิษเรื้อรังต่อระบบสืบพันธุ์ เกิดกาลวิรูปในทารก และมีผลต่อระบบประสาท รวมทั้งยังพบการตกค้างในดิน น้ำ และมีพิษเฉียบพลันสูงมากต่อนก สัตว์น้ำ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อวงจรชีวิตสัตว์และห่วงโซ่อาหาร จนหลายประเทศยกเลิกการใช้แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร แคนาดา นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย เวียดนาม ลาว และพม่า หากแต่ทว่าประเทศไทยกลับยังคงซื้อง่ายขายคล่องหน้าร้านค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเลยทีเดียว

เมื่อสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้จึงไม่เป็นการกล่าวเกินเลยว่าประเทศไทยทั้งในระดับการบังคับใช้กฎหมายและแนวนโยบายต่างผลักดันให้คนไทยที่เป็นผู้บริโภคผักผลไม้ภายในประเทศกลายเป็น ‘พลเมืองชั้นสองของโลก’ เพราะขณะที่กลั่นกรองตรวจสอบผลผลิตที่ส่งออกตลาดต่างประเทศอย่างเข้มงวดกวดขัน แต่ทว่ากลับยอมให้ผักผลไม้ที่ขายในประเทศไทยยังคงปนเปื้อนสารเคมีอันตราย โดยเฉพาะสารเคมี 4 ชนิดข้างต้นที่มีอันตรายร้ายแรง โดยการพยายามจะผลักดันการขึ้นทะเบียนให้สำเร็จ ซึ่งถ้าทำสำเร็จทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรายน้อยจะต้องเผชิญความเสี่ยงทางสุขภาพจากการเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ โดยเฉพาะมะเร็งต่อไป ในขณะเดียวกันความสมดุลและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมก็จะถูกทำลายย่อยยับจากการตกค้างยาวนานของสารเคมีเหล่านี้ที่จะกระทบต่อห่วงโซ่อาหารและความมั่นคงทางอาหารในมิติของความปลอดภัยทางอาหารและโภชนาการในที่สุดนั่นเอง

เพราะเพียงนับตัวเลขการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่แจ้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็จะพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นแทบทุกปี ในระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมามีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว และมีอัตราการใช้สารเคมีต่อหน่วยพื้นที่มากถึงร้อยละ 11 ต่อปี โดยปี 2554 มีการนำเข้าสารเคมีทั้งสิ้น 164,538,953กิโลกรัม คิดเป็นสารออกฤทธิ์ 87,619,342 กิโลกรัม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 22,070,248,685 ล้านบาท และจากสถิติปี 2552 ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชประเภทต่างๆ จากประเทศจีนร้อยละ 66 อินเดียร้อยละ 8 และประเทศอื่นๆ ร้อยละ 26 ซึ่งเกือบทั้งหมดนำเข้าโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ 6 บริษัท และบริษัทอื่นๆ อีก 230 บริษัท มีบริษัทผลิตสูตรสำเร็จ 90 บริษัท ผู้ค้าส่ง 543 ราย และผู้ค้าปลีก 15,822 ราย ซึ่งถึงที่สุดแล้วเกษตรกรจะต้องซื้อสูงกว่าราคาวัตถุดิบที่นำเข้ามาหลายเท่าตัว กำไรในธุรกิจนี้จึงมหาศาลยิ่ง ไม่นับสารเคมีอีกจำนวนมหาศาลที่ลับลอบนำเข้ามาจำหน่ายและขายให้เกษตรกรในราคาแพงโดยแต่ละตัวก็มีพิษร้ายแรงทั้งต่อสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภคตลอดจนทำลายสุขภาวะสิ่งแวดล้อมและสังคม

ครั้นจะเรียกร้องให้บรรษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทำการตลาดและการโฆษณาอย่างมีความรับผิดชอบและจรรยาบรรณทางธุรกิจก็เป็นคงเป็นได้เพียงความฝันลมๆ แล้งๆ เมื่อประจักษ์กับข้อมูลในระดับพื้นที่ทั่วทุกภาคของไทยและตามพื้นที่สื่อมวลชนที่มีการโฆษณายาฆ่าแมลงโดยอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงด้วยข้อความโฆษณาประเภทฉีดครั้งเดียวตายเรียบ และการใช้พรีเซนเตอร์โฆษณาที่มีชื่อเสียงมากระตุ้นยอดขาย และการโฆษณาแฝงในรายการกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะมวย เช่นกันกับการจะเรียกร้องให้รัฐเข้ามารับผิดชอบควบคุมตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ต้นธารโดยการกำกับการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพและคำนึงถึงผลประโยชน์ทางสุขภาพเป็นสำคัญก็คงทำได้ไม่มากนัก เนื่องจากรัฐกลายเป็นหนึ่งในผู้สมรู้ร่วมคิดของธุรกิจที่มีผลกำไรมหาศาลและมีเครือข่ายโยงใยในกลุ่มนักการเมืองและนักธุรกิจระดับชาติ รัฐจึงเอียงข้างบรรษัทมากกว่าประชาชน ทั้งๆ ที่รัฐคือตัวแทนประชาชน

แต่ที่ผ่านมารัฐกลับออกมาปกป้องบรรษัทโดยระบุว่าเป็นความลับทางการค้าเมื่อภาคประชาสังคมเรียกร้องความโปร่งใสในด้านข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นพิษของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นๆ หรือไม่ก็จัดประชุมทำประชาพิจารณ์โดยเชิญภาคประชาสังคมที่คัดค้านเข้ามาให้ข้อคิดเห็นแต่เมื่อสรุปข้อคิดเห็นหลักฐานจากการประชุมกลับไม่มีข้อคัดค้านเหล่านั้นปรากฎอยู่ในรายงานการประชุมอันจะทำให้เข้าใจอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากว่าจัดประชุมเพื่อให้ผ่านๆ ไป และได้รายชื่อของผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นภาคประชาสังคมหรือเกษตรกร ‘แสตมป์’ รับรองความถูกต้องของกระบวนการ ไม่นับการเชิญจดหมายล่าช้าที่กลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อมีข้อถกเถียงด้านผลประโยชน์ระหว่างประชาชนกับบรรษัทโดยรัฐเป็นผู้จัดการประชุม

แต่ที่แย่กว่านั้นคือคนของบรรษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกับผู้บริหารภาครัฐทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติมักมีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด ไม่เป็นครอบครัวหรือญาติ หากบางครั้งถึงขั้นเป็นคนคนเดียวกันก็มี

เช่นนี้นี่เองที่ทำให้การทำการตลาดกับประชาชนไทยอย่างขาดความรับผิดชอบของบรรษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (corporate responsibility) ภายใต้การสมรู้ร่วมคิดของรัฐ นอกจากจะทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อทางการตลาดอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว กลยุทธ์การตลาด การโฆษณา และการล็อบบี้อย่างเข้มข้นให้รัฐไม่ต้องเข้ามากำกับการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการผลักดันมาตรการกำกับดูแลตนเองของเกษตรกรในฐานะผู้ใช้สารเคมีที่ต้องใช้อย่างถูกวิธี (safe use) และป้ายผิดให้เกษตรกรในฐานะที่ใช้ผิดวิธี (misuse) รวมถึงเรียกร้องให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคต้องรับผิดชอบตนเองโดยเลือกบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย จึงทำให้ประชาชนไทยกลายเป็น ‘พลเมืองชั้นสองของโลก’ ที่มีสิทธิทางสุขภาพด้อยกว่าคนต่างชาติที่ทั้งรัฐบาลไทย บรรษัทสารเคมีในไทยทั้งข้ามชาติและระดับชาติ ให้ความสำคัญ