การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือจี เอ พี (Good Agricultural Practices: GAP) เป็นแนวทางในการเพาะปลูกที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตรกร รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรสาธารณประโยชน์[1] เพื่อจัดการการเพาะปลูกตั้งแต่การเตรียมพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว โดยมีเป้าหมายให้ผลผลิตได้มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงให้ผู้ผลิตสามารถ ใช้สารเคมีที่ถูกชนิดได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย และลดการทำลายสิ่งแวดล้อม
กลุ่มผู้ค้าปลีกในยุโรป (Euro-Retailer Produce Working Group) เป็นผู้ริเริ่มสร้างมาตรฐาน จี เอ พี ในสินค้าทางการเกษตรของตนใน พ.ศ. 2540 โดยใช้ชื่อว่า Eurep-GAP และมีผู้ประกอบการในหลายประเทศรับเงื่อนไขของระบบ จี เอ พี ไปปรับใช้ เช่น ญี่ปุ่นมี JGAP และเวียดนามมี VietGAP เป็นต้น ต่อมาใน พ.ศ. 2550 Eurep-GAP เปลี่ยนชื่อเป็น GlobalGAP เพื่อรับรองมาตรฐานสินค้าจากประเทศอื่นๆ นอกเหนือยุโรป ทำให้หลายประเทศที่เคยมีมาตรฐานของตนปรับมาใช้ GlobalGAP ปัจจุบัน มีสำนักงานรับรองมาตรฐาน GlobalGAP ตั้งอยู่ใน 100 กว่าประเทศทั่วโลก องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติมีการพัฒนาหลักปฏิบัติ FAO GAP ขึ้นมาเช่นกัน และทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ต่อประเทศต่างๆ แต่ไม่มีบริการด้านการรับรองมาตรฐานสินค้า
ในส่วนของประเทศไทย มีการรับรอง GlobalGAP บางส่วน แต่ส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ Q-GAP ซึ่งรับรองว่าสินค้ามีคุณภาพและความปลอดภัย เพราะในระดับการเพาะปลูก เกษตรกรได้ปฏิบัติตามหลัก จี เอ พี ที่หน่วยงานกำหนด
ลำกับเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลงของสถาบันและการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร** |
|
---|---|
พ.ศ. 2531 | เริ่มนำแนวทาง จี เอ พี มาปฏิบัติในไทย |
พ.ศ. 2538 | สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ก่อตั้งขึ้น |
พ.ศ. 2543 | กรมส่งเสริมเกษตรและสหกรณ์กำหนดมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ |
พ.ศ. 2545 | สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ก่อตั้งขึ้น |
พ.ศ. 2547 | รัฐบาลประกาศให้อาหารปลอดภัยเป็นวาระแห่งชาติ และกระทรวงเกษตรฯ เริ่มใช้มาตรฐาน Q-GAP (มาตรฐานภาครัฐ) |
พ.ศ. 2548 | เริ่มมี ThaiGAP* (มาตรฐานภาคเอกชน) |
พ.ศ. 2549 | กลุ่มประเทศอาเซียนตกลงทำมาตรฐาน AseanGAP |
พ.ศ. 2551 | มีการใช้ระบบการแบ่งชนิดและติดฉลากสารเคมีที่เป็นสากล (Globally Harmonized System of Classification and Labeling of Chemicals: GHS) และเอกสารข้อมูลความปลอดภัย (safety data sheet) |
พ.ศ. 2553 | ผู้ประกอบการเลิกใช้ ThaiGAP และเปลี่ยนมาใช้ GlobalGAP |
พ.ศ. 2555 | มีแผนปรับ Q-GAP ให้กลายเป็น AseanGAP |
* ThaiGAP เป็นมาตรฐานสินค้าที่กำหนดโดยภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่มีการส่งออกไปยังตลาดในยุโรป |
|
** แปลและดัดแปลงจาก |
แม้ว่าโดยหลักการ จี เอ พี จะช่วยลดผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการใช้สารเคมีเหล่านี้มากขึ้นถึง 11% ต่อเฮกแตร์ต่อปี[2] ซึ่งส่งผลต่อถึงการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายในพืชอาหารหลายชนิด ล่าสุด งานวิจัยเรื่องมาตรฐาน จี เอ พี ของหน่วยงานภาครัฐ และการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยใช้กรณีศึกษาจากพื้นที่ปลูกผักและผลไม้ในเขตลุ่มแม่น้ำแม่สา ของ Pepjin Schreinemachers et al. (2012) จากมหาวิทยาลัยโฮเฮนไฮม์ เยอรมัน และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า เกษตรกรที่ปฏิบัติตามหลัก จี เอ พี ของกรมวิชาการเกษตร ไม่ได้ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณน้อยกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้ปฏิบัติตาม จี เอ พี รวมถึงยังมีการเลือกใช้สารเคมีที่มีความอันตรายสูงในพืชบางชนิด จากการสัมภาษณ์เกษตรกร 290 คน (Q-GAP 45 คน) มีพียง 4 คนเท่านั้นที่ใช้สารชีวภาพในการกำจัดศัตรูพืช มีเกษตรกรที่ทำ Q-GAP 84% และเกษตรกรทั่วไป 77% ใช้สารเคมีอย่างเดียวในการกำจัดศัตรูพืช มีเพียงเกษตรกรที่ทำ Q-GAP เพียง 14% เท่านั้นที่จัดการศัตรูพืชอย่างผสมผสาน ระหว่างสารเคมี สารชีวภาพ และการใช้แรงงานดักจับแมลงหรือถางหญ้าวัชพืช พฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มไม่ค่อยมีความแตกต่างกัน เกษตรกรที่ทำ Q-GAP 44% ฉีดสารเคมีเป็นประจำตามช่วงเวลาที่ค่อนข้างแน่นอน ไม่ว่าจะมีการระบาดของแมลงในระดับใด และปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลาก (78% ของกลุ่ม Q-GAP) ส่วนเกษตรกรทั่วไปฉีดในช่วงเวลาที่แน่นอน 41% และปฏิบัติตามฉลาก 80% ที่สำคัญ เกษตรกรที่ทำ Q-GAP โดยรวม[3] ใช้สารเคมีที่มีความอันตรายปานกลาง (กลุ่ม II ขององค์การอนามัยโลก) ยกเว้นผู้ปลูกผักกาดหอมและผักกาดขาว ซึ่งใช้สารเคมีอันตรายสูงมากกว่าเกษตรกรที่ไม่มี Q-GAP ส่วนในการปลูก สควอช แครอท/มันฝรั่ง ลิ้นจี่ และมะเขือเทศ ไม่มีความแตกต่างกันของทั้ง 2 กลุ่ม
ทั้งนี้ เกษตรกรที่ทำ Q-GAP และเกษตรกรทั่วไป มีพฤติกรรมการใช้สารเคมีที่ไม่แตกต่างมากนัก เนื่องจากภาครัฐไม่ให้การสนับสนุนอย่างเพียงพอ ไม่มีการช่วยเหลือทางเทคนิคต่อเกษตรกรหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่มีพิษน้อยและเป็นอันตรายน้อยกว่า ตามหลักปฏิบัติของ Q-GAP เกษตรกรจะถูกตรวจสอบ 3 ครั้ง โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าก่อนมีการรับรองครั้งแรก แต่ในความเป็นจริง เกษตรกรถูกตรวจสอบเพียงครั้งเดียวและมีการแจ้งล่วงหน้า เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่รายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจากภาครัฐที่มายังสวนของตน มีอายุน้อยและดูไม่ค่อยมีประสบการณ์ ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีในการสอบถามและพิจารณาว่าสวนได้มาตรฐานหรือไม่ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะได้รับการรับรอง เกษตรกรหลายรายชี้ว่าจุดที่ค่อนข้างลำบากคือการจัดการและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเหมาะสม เพราะว่าต้องหาข้อมูลว่าสารเคมีชนิดใดสามารถใช้ได้ ต้องใช้ตามที่ฉลากระบุ และจัดเก็บให้ถูกต้อง แต่โดยรวมก็ไม่ได้แตกต่างจากการใช้เดิมเท่าใด จึงไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนที่แตกต่างหลักคือการเว้นระยะก่อนการเก็บเกี่ยว (pre-harvest interval) ซึ่งไม่ค่อยมีการปฏิบัติในอดีต อย่างไรก็ตาม คณะวิจัยสังเกตว่ายังมีการฉีดสารเคมีในวันเดียวกับวันที่เก็บเกี่ยวผลผลิต เนื่องจากเกษตรกรรู้ว่าการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารอันตรายจะใช้ตัวอย่างผักหรือผลไม้ค่อนข้างน้อย จึงมีความเสี่ยงน้อยที่จะพบว่ามีการปนเปื้อนเกินมาตรฐานเช่นกัน
งานวิจัยชิ้นนี้ ศึกษาเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง Q-GAP เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จึงไม่สามารถเหมารวมเกษตรกรทั้งหมดในระบบ Q-GAP ทั่วประเทศ แต่การศึกษามีข้อสรุปว่า การรับรอง Q-GAP ของหน่วยงานรัฐ มีคุณภาพค่อนข้างต่ำ เพราะว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูล อบรม และตรวจสอบที่เพียงพอต่อจำนวนเกษตรกรที่มี Q-GAP หรือเกษตรกรที่ต้องการขอรับรอง ดังนั้น Q-GAP จึงยังไม่ใช่ทางเลือกในการพัฒนาระบบอาหารให้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกร และผู้บริโภค อีกทั้ง Q-GAP ให้ความสำคัญกับGAPการตรวจหาสารปนเปื้อนในผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งเป็นปลายเหตุของปัญหา จึงควรให้น้ำหนักกับการจัดการฟาร์ม และเพิ่มทางเลือกของการกำจัดศัตรูพืชโดยไม่ใช้หรือลดการใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งจะช่วยให้ จี เอ พี บรรลุเป้าหมายที่แท้จริง เพื่อระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนได้
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้ได้ที่ http://www.springerlink.com/content/tn144h2558826802/fulltext.pdf?MUD=MP
[1] “Development of a Framework for Good Agricultural Practices”, FAO (2003)
[2] คำนวณจากปริมาณสารออกฤทธิ์เท่านั้น. สุวรรณา ประณีตวตกุล และคณะ (2011)
[3] ผู้ปลูกพริกหยวก สควอช แครอท/มันฝรั่ง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักกาดหอม ลิ้นจี่ และมะเขือเทศ