สลายมายาคติ การฉีดพ่นพาราควอตต้นทุนสูงกว่า เครื่องตัดหญ้า รถไถจิ๋ว แทรคเตอร์ 50%

จากการวิเคราะห์และประมวลข้อมูลจากหลายหน่วยงาน เราพบความจริงว่า การใช้พาราควอตต่างหากที่ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนสูงกว่าการใช้เครื่องมือกล เช่น เครื่องตัดหญ้าสะพายหลัง รถไถเดินตาม รถไถจิ๋ว และแทรกเตอร์ติดจอบหมุน ถึง 50% และหากรวมผลกระทบภายนอก (Pesticide use externality) แล้ว การใช้พาราควอตมีต้นทุนสูงกว่าถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับการใช้เครื่องมือกล

กลุ่มสนับสนุนการใช้พาราควอตอ้างว่า การแบนพาราควอตจะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 70,000 ล้านบาท ไบโอไทยตรวจสอบพบว่าการประเมินผลกระทบดังกล่าวผิดพลาด ไม่ตรงข้อเท็จจริง หลายประเด็นและหลายชั้น เช่น

1. คำนวณต้นทุนการใช้พาราควอตต่ำกว่าความเป็นจริงตั้งแต่ 1.3-2.2 เท่าในพืชชนิดต่างๆ

2. อ้างตัวเลขการใช้พาราควอตในพืชเศรษฐกิจสำคัญจากจำนวนพื้นที่ปลูกพืชทั้งหมด ทั้งๆที่ในทางความเป็นจริงพื้นที่ปลูกพืชดังกล่าวไม่ได้ใช้พาราควอตทั้งหมด เช่น งานศึกษาของมหาวิทยาสงขลานครินทร์พบว่าพื้นที่สวนยาง(สงขลา)ที่ใช้สารกำจัดวัชพืชมีเพียง 11.52% และ สวนปาล์ม(กระบี่)ใช้เพียง 26% เท่านั้น

3. การคำนวณค่าใช้จ่ายในการฉีดพ่นพาราควอตไม่คิดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน 150 บาทต่อไร่

4.เปรียบเทียบต้นทุนการกำจัดวัชพืชในพืชหลายชนิดโดยคิดจากค่าแรงการกำจัดวัชพืชด้วยมือ ในขณะที่ส่วนใหญ่เกษตรกรใช้เครื่องตัดหญ้า รถไถ และแทรกเตอร์ เป็นหลัก

จากการประมวลและสังเคราะห์ข้อมูล โดย

1. ใช้ผลการศึกษาเกี่ยวกับสัดส่วนพื้นที่การปลูกพืชของ ม.สงขลานครินทร์ที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปาล์มน้ำมันและยางพารา สัดส่วนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง และการใช้พาราควอตในนาข้าวของ Thai-PAN

2. ประเมินปริมาณการใช้สารกำจัดวัชพืชของพืชเศรษฐกิจสำคัญ 6 ชนิด ซึ่งคิดเป็น 83% ของพื้นที่การปลูกพืชทั้งหมดของประเทศ โดยประเมินจากมูลค่าตลาดของพาราควอตที่มีมูลค่าตลาด 5,000 ล้านบาทในปี 2559 เทียบกับสัดส่วนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและคำนึงถึงอัตราแนะนำการใช้พาราควอตในพืชเศรษฐกิจกลุ่มหลักดังกล่าว ทำให้สามารถคำนวณปริมาณและค่าใช้จ่ายพาราควอตในแต่ละพืชได้ตรงกับความเป็นจริง และทำให้ทราบว่าต้นทุนการใช้พาราควอตของเกษตรกรคือ 4,420 ล้านบาท
(ไม่ได้คิดจากมูลค่าการนำเข้าพาราควอตจากตัวเลขปี 2560 ซึ่งสูงมากอย่างผิดสังเกต)

3. เมื่อรวมต้นทุนค่าแรงการฉีดพ่นแล้ว ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการฉีดพ่นพาราควอต คือ 6,653 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการใช้แทรคเตอร์ติดจอบหมุนในอ้อย รถไถขนาดเล็กในข้าวโพด และมันสำปะหลัง รวมทั้งค่าจ้างในการใช้เครื่องตัดหญ้าสะพายหลังในยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าว(ซึ่งมีการใช้พาราควอตน้อยมาก เช่น บนคันนา เป็นต้น) พบว่าต้นทุนการใช้พาราควอตสูงกว่าถึง 50%

4. การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Pesticide Externalities) ซึ่ง รศ.สุวรรณา ประณีตวตกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเมินไว้เบื้องต้นว่า ในกรณีประเทศไทยจะมีต้นทุนผลกระทบดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.24 เท่าของมูลค่าการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแต่ละปี จึงต้องนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาคำนวณด้วย

(ที่จริงแล้วเราเห็นว่าตัวเลขผลกระทบดังกล่าวค่อนข้างต่ำเนื่องจากข้อมูลเรื่องผลกระทบโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพนั้นยังมีอยู่จำกัด ในขณะที่ผลกระทบต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไม่อาจประเมินได้ครอบคลุมได้ง่าย รวมทั้งสารพิษแต่ละชนิดก่อให้เกิดความเสียหายแตกต่างกัน เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของพาราควอตน่าจะสูงกว่าค่าดัชนีดังกล่าวหลายเท่า)

ภายใต้ข้อมูลอันจำกัด ไบโอไทยจึงใช้ค่าดัชนีดังกล่าวมาคิดเป็นค่าผลกระทบอย่างต่ำไว้เป็นเบื้องต้น โดยพบว่าค่าใช้จ่ายผลกระทบจากพาราควอตคิดเป็นมูลค่า 2,284 ล้านบาทต่อปี

5. จากการเปรียบเทียบ ทำให้พบความเป็นจริงว่า หากรวมผลกระทบภายนอกที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมแล้ว การใช้พาราควอตมีต้นทุนสูงกว่าถึงอย่างน้อย 2 เท่าตัว

6. การกำจัดวัชพืชโดยการตัดหญ้าและการใช้รถไถจะลดผลกระทบของพาราควอตที่มีต่อพืชปลูก ดังนั้นในพื้นที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน จะพบว่าพืชจะให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมด้วย

7. การกำจัดวัชพืชโดยใช้เครื่องมือกลดังกล่าว สอดคล้องไปด้วยกันกับการปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน โดยที่อาจมีค่าแรงในการกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่คุ้มค่ากว่ามาก เพราะนอกจากไม่เสียค่าใช้จ่ายเรื่องสารเคมีและลดผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว พืชคลุมดินยังสร้างปุ๋ยธรรมชาติให้ในมูลค่ามหาศาล

ตัวอย่างเช่น สถาบันวิจัยพืชสวนคำนวณว่า ถ้ามีการใช้พืชคลุมดินในสวนยาง 5 ปีแรกเพื่อควบคุมวัชพืชจะได้ปุ๋ยธรรมชาติคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 157,046 ล้านบาท หรือประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี

ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการวัชพืชตามที่เสนอนี้ ไม่ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย และผู้บริหารในกระทรวงเกษตรฯหลายระดับ เนื่องจากพวกเขามีธงอยู่แล้วว่าจะไม่แบนพาราควอต แต่จะเสนอให้มีการจำกัดการใช้ (ซึ่งยากที่จะบังคับใช้ได้)แทน