มติเอกฉันท์ แบน 3 สารพิษ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบปรับพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ชี้มีผล 1 ธันวาคมเป็นต้นไป

รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ที่กะทรวงอุตสาหกรรมมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 เรื่องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการได้มีการพิจารณาข้อมูลประกอบด้วย ผลการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้นำบัญชานายกรัฐมนตรีไปดำเนินการ โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่าได้มีการพิจารณาข้อมูลวิธีการและสารทางเลือกในการจัดการวัชพืช ต้นทุนของวิธีการและสารทางเลือก ข้อมูลสารทดแทนสารคลอร์ไพริฟอส ปริมาณสารที่คงเหลือ ณ ปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่าสามารถบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติได้

หากยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง ๓ รายการ และผู้แทนหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอข้อมูลความเป็นอันตราย และข้อมูลการตรวจสอบเฝ้าระวังสารตกค้างในสินค้าเกษตรในท้องตลาด นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้นำข้อมูลและข้อเสนอที่ได้รับจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ต้องการให้ยกเลิกการใช้ และส่วนที่ไม่เห็นด้วยหากจะยกเลิกการใช้ มาพิจารณาในที่ประชุมด้วย

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ได้มีการลงมติแบบเปิดเผย เช่นเดียวกับทุกครั้งที่มีการลงมติ ผลการลงมติคือ พาราควอต ยกเลิกการใช้ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จำนวน 20 คน ยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จำนวน 1 คน จำกัดการใช้ จำนวน 5 คน ไกลโฟเซต ยกเลิกการใช้ จำนวน 19 คน จำกัดการใช้ จำนวน 7 คน คลอร์ไพริฟอส ยกเลิกการใช้ จำนวน 22 คน จำกัดการใช้ จำนวน 4 คน

“มติที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แล้วเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลา ความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่าย เป็นต้น โดยให้รับรองมติในที่ประชุม”

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/412668