ลูกขุนศาลสหรัฐตัดสินคดีที่ 2 ราวด์อัพ ก่อมะเร็ง

เมื่อวันอังคารที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะลูกขุน ศาลฟรานซิสโก มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าสารเคมีกำจัดวัชพืช “ราวด์อั้พ” ซึ่งมีส่วนผสมของไกลโฟเซต เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ให้ นายเอ็ดวิน ฮาร์ดีแมน (Edwin Hardeman) ชายวัย 70 ปีป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma)

คดีนี้เป็นคดีที่สองที่คณะลูกขุนมีคำตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ต้องรับผิดชอบความเจ็บป่วยของผู้ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ นายดีเวย์น จอห์นสัน (Dewayne Johnson) ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จากการที่เขาใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ที่มีส่วนผสมของไกลโฟเซตนี้เป็นประจำในการทำงานเป็นคนสวนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย และได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน เมื่อปี 2014 คณะลูกขุนมีคำสั่งให้บริษัทมอนซานโต้เจ้าของผลิตภัณฑ์ จ่ายค่าเสียหายมูลค่า 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 9,500 ล้านบาท) ก่อนจะตัดสินให้ลดค่าเสียหายลงเหลือ 80 ล้านเหรียญเมื่อเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา

ขณะนี้มีคำฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ราวด์อัพในสหรัฐฯ ประมาณ 11,200 คดี

เมื่อปี 2550 ประเทศไทยนำเข้าไกลโฟเซต 36,162,276 กิโลกรัม และเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในปี 2560 โดยมีปริมาณการนำเข้า 59,872,230 กิโลกรัม

กระทรวงสาธารณสุขเรียกร้องให้มีการกำจัดการใช้สารพิษนี้ พร้อมกับให้แบนสารพิษกำจัดวัชพืชพาราควอตและสารเคมีกำจัดแมลงคลอร์ไพรีฟอส ในขณะที่สภาวิชาชีพ เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม รวมทั้งคณะกรรมการหลายชุดเรียกร้องให้มีการแบนไกลโฟเซตในประเทศไทย

คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่มีการแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยอ้างว่าข้อมูลเรื่องผลกระทบยังไม่ชัดเจน และเกษตรกรยังไม่มีทางเลือกอื่นในการกำจัดศัตรูพืช