สารกำจัดศัตรูพืชมูลเหตุของความฉ้อฉล

ชนวน รัตนวราหะ

อนุสนธิจากการอภิปรายเปิดโปงถึงความฉ้อฉลในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา จนปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ว่า  มีความไม่โปร่งใสในการบริหารการใช้งบประมาณทดรองราชการของบางจังหวัดในภาคอิสาน   ซึ่งอภิปราย โดย ส.ส พรรคประชาธิปัตย์ กรุงเทพมหานคร. นัยของการอภิปราย เปิดเผยว่า จังหวัดบึงกาฬ และอีกหลายจังหวัดในภาคอิสาน รวมไปจนถึงบางจังหวัดในภาคใต้   ได้ใช้งบประมาณซื้อสารกำจัดโรคพืชชนิดคาร์เบนดาซิม ในราคา กิโลกรัม ละ 1,920 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่สามารถจะซื้อได้ในท้องตลาดท้องถิ่นจังหวัดใกล้เคียงกันคือ จังหวัดอุบลราชธานี ในราคา เพียงกิโลกรัมละ 250 บาท เท่านั้น  นอกจากนั้นยังมีการจัดซื้อสารกำจัดโรคพืชอีกชนิดหนึ่งที่ราคาในท้องตลาดอุบลราชธานีเพียงหน่วยละ 50 บาท แต่มีการใช้งบราชการซื้อถึง 350 บาท

จากข้อเท็จจริง  เหตุการณ์ทีเกิดขึ้นครั้งนี้มิได้เป็นครั้งแรกในประทศไทย  หากแต่ได้มีการกระทำเช่นนี้มาก่อนในหน่วยราชการที่รับผิดชอบต่อพี่น้องเกษตรกรไทยมานานแล้ว  โดยอาศัยสถานการณ์ระบาดของศัตรูพืชนานาชนิดที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศการเกษตรที่มีความสมดุลของพื้นที่ป่าไม้กับพื้นที่การเกษตรไปสู่การทำลายป่าไม้และขยายพื้นที่การเกษตรแบบเชิงเดี่ยว(Monoculture)   ซึ่งเป็นการพัฒนาที่เอาแบบฝรั่งที่เรียกว่า  ”การปฎิวัติเขียว “ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 หรือประมาณ  50 ปีที่ผ่านมา จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดศัตรูพืชระบาดมากขึ้น     และเป็นข้ออ้างของทางราชการเพื่อตั้งงบประมาณในการซื้อสารเคมีเพื่อการกำจัดอย่างมากมาย  จนเป็นมูลเหตุให้เกิดการคอร์รัปชั่นจากการซื้อขายสารเคมีดังกล่าวในวงราชการตลอด 40-50 ปีที่ผ่านมา  โดยที่ไม่สามารถจะใช้กฎหมายเอาผิดต่อผู้ประทำความผิดได้เลยแม้แต่รายเดียว  เนื่องจากระบบการตรวจสอบในอดีตไม่เข้มแข็งเพียงพอ แม้จะมีหลักฐานที่ชัดเจนมากกว่าที่ปรากฏในครั้งนี้ก็ตาม

แต่ที่น่าจดจำในเหตุการณ์ครั้งนี้  ซึ่งถ้าเป็นไปตามข้อมูลที่ปรากฏว่าเป็นการสบคบกันระหว่างข้าราชการกับร้านค้าหรือบริษัทธุรกิจสารเคมีการเกษตรเพื่อจัดซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นมากกว่าถึง 7 – 9  เท่าตัว(700-900 เปอร์เซ็นต์) ทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินโดยไม่จำเป็นมากมายเป็นมูลค่านับพันล้านบาท   ทั้ง ๆ ที่ในสถานะการณ์ของประเทศตกอยู่ในฐานะต้องกู้หนี้ยืมสินจากแหล่งเงินต่างประเทศมาใช้ในการบรรเทาสาธารณะภัยจำนวนมากมาย ถึง 3.5 แสนล้านบาท ดังเป็นที่ทราบกันอยู่อย่างเต็มอก  แต่ทว่าข้าราชการ(เลว)ก็ยังมีใจที่เหี้ยมอำมหิตที่สามารถจะโกงชาติได้ลงคอ

ในอดีตที่ผ่านมานั้น ถึงแม้ประเทศชาติยังไม่ตกอยู่ในสภาพที่เป็นหนี้สินท่วมท้นอย่างเช่นปัจจุบันก็ตาม แต่ความฉ้อฉลจากการซื้อสารเคมีการเกษตรก็ได้สร้างความเสียหายให้เกิดกับระบบการบริหารราชการที่ต้องการความยุติธรรมและธรรมาภิบาลอย่างยิ่ง    โดยข้าราชการที่ยอมตนกระทำการทุจริต ก็มักจะได้ดิบได้ดี  ในขณะทีข้าราชการที่ซือสัตย์สุจริตไม่กระทำสิ่งชั่วร้ายก็มักจะไม่มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่  องค์กรของราชการก็จะมีแต่การบริหารงานที่ไม่ซื่อสัตย์

หากย้อนไปในอดีต  กระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการเกษตรของประเทศ มีประสบการณ์ของความเลวร้ายนี้มาอย่างยาวนาน  ตั้งแต่ การจัดซื้อสารกำจัดต๊กแตนปาทังก้า และศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ  ปีละนับร้อยล้านจนถึงพันล้านอย่างต่อเนื่องกันไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี (2510 -2540) โดยนักการเมืองที่เวียนเข้าไปครองอำนาจซึ่งต่างก็ต้องรับรู้อยู่เต็มอกว่าได้รับส่วนแบ่งเพื่อไปใช้ส่วนตนและการเลือกตั้งกันเกือบจะถ้วนหน้า หากไม่เชื่อก็ลองไปกราบนมัสการถามท่านภิกขุ รูปหนึ่งที่มีอดีตเป็นนักการเมืองซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรี ปัจจุบันได้สละกิเลศอย่างสิ้นเชิงและได้เข้าอาศัยอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ของพุทธศาสนา   เชื่อว่าท่านคงจะต้องบอกความจริงในเรืองนี้เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามความฉ้อฉลดังกล่าวนี้ อาจจะมีข้อยกเว้นบ้าง  สำหรับนักการเมืองที่มีโอกาสแต่ยังมีความละอายต่อบาปเพียงไม่กี่คนที่ไม่ยอมรับเงินชั่วดังกล่าว  ในส่วนของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางท่านแม้ว่าข้าราชการรุ่นหลังยังให้ความเคารพอยู่  แต่พฤติกรรมเบื้องหลังของท่านได้มีส่วนร่วมสมคบกระทำการฉ้อฉลดังกล่าว ในจำนวนนั้นหลายท่านก็จากโลกนี้ไปแล้วโดยที่ไม่สามารถจะเอาทรัพย์สมบัติที่ได้จากการฉ้อฉลนี้ติดตัวไปได้เลยแม้แต่สตางค์เดียว และที่น่าสมเพชก็คือชีวิตในบั้นปลายทุกท่านก็ถูกกรรมเวรติดตามทวงหนี้ซึ่งคนในวงการทราบดี ว่าอะไรได้เกิดขึ้นกับท่านเหล่านั้นซึ่งเป็นจริงตาม “กฎแห่งกรรม”  ส่วนทรัพย์สมบัติที่เหลืออยู่ก็มีอาถรรพ์ที่ภรรยาและลูกหลานต่างแย่งชิงกันจนต้องฟ้องร้องกันถึงโรงถึงศาล     ฉนั้นจึงอยากฝากเป็นอุทาหรณ์ไปยังข้าราชการปัจจุบันที่ยังเสวยอำนาจอยู่ในขณะนี้ว่าสมควรที่ท่านจะเดินตามรอยบาปของข้าราขการเลว ๆในอดีตเหล่านั้นหรือไม่

แต่ก็นับเป็นความโชคดีของข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ในรอบ 15  ปี ที่ผ่านมา  มีนักการเมืองน้ำดีในฐานะรัฐมนตรีว่าการฯ คนหนึ่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2540 ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายว่ากระทรวงฯจะไม่ตั้งงบประมาณจัดซื้อสารเคมีการเกษตรเพื่อสนับสนุนเกษตรกรตามที่เคยกระทำในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาก่อนหน้านี้       โดยยกให้เป็นภาระของสถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ในการจัดหาปัจจัยดังกล่าวเอาเอง   ซึ่งได้สร้างความฮือฮากันในวงการโดยหลังจากนั้นไม่นานรัฐมนตรีคนนั้นถูกปลดออกจากตำแหน่งในขณะที่อยู่ในระหว่างการเดินทางไปราชการต่างประเทศ     แต่อานิสสงค์ของนโยบายนี้ได้ทำให้ข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความความเลวร้าย  ได้พ้นจากเวรกรรมที่จะอาจจะต้องใช้หนี้อย่างข้าราชการรุ่นก่อน ๆ

อยากจะหวังว่าประวัติศาสตร์ของความฉ้อฉลนี้คงไม่ย้อนกลับมาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก      แต่ก็ไม่อยากจะเชื่อว่า  ในปัจจุบัน  สิ่งเลวร้ายนี้กลับไปสิงสถิตย์กับวงการของนักปกครองที่ไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับวงจรอุบาทก์นี้เลย  จึงฝากเป็นข้อเตือนใจว่า   ถึงแม้ที่ผ่านมาบ้านเมืองจะไม่สามารถหาหลักฐานมาเอาความผิดตามกฏหมายกับข้าราชการ(เลว)จำนวนมากได้ก็ตาม       แต่เวรกรรมมีจริงนะ และปัจจุบันอยู่ในยุคที่เวรกรรมติดจรวดเสียด้วย  ฉะนั้นเวรกรรมที่ทำจะเกิดขึ้นให้เห็นทันตาทีเดียว ไม่อยากเห็นว่าข้าราชการหลายท่านที่เคยรับราชการอย่างซื่อสัตย์สุจริตมาเป็นเวลานับสิบ ๆ ปี จนได้เป็นถึง รองปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ฯลฯ  แต่จะมาเสียผู้เสียคนจากสิ่งเหล่านี้หรือ