นักวิทยาศาสตร์เตือนผืนพิภพเปื้อนสารพิษการเกษตร

คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในยุโรปและออสเตรเลีย ได้แก่ Fiona H. M. Tang จาก Swedish University of Agricultural Sciences และ Manfred Lenzen, Federico Maggi จาก The University of Sydney และ Alexander McBratney เพิ่งตีพิมพ์งานวิจัยใน Nature Geoscience เมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา พวกเขาพบว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งใช้สำหรับการเกษตรกรรมทั่วโลกนั้น ขณะนี้กำลังก่อมลพิษในสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ และสุขภาพของมนุษย์
 
จากการใช้ฐานข้อมูลทั่วโลกของการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและแบบจำลองสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ เพื่อประเมินภูมิศาสตร์โลกของความเสี่ยงด้านมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยศึกษาสารพิษกำจัดศัตรูพืชจำนวน 92 ชนิดใน 168 ประเทศ พวกเขาพบว่า 64% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลก (ประมาณ 24.5 ล้านตารางกิโลเมตร) มีความเสี่ยงต่อมลพิษจากสารกำจัดศัตรูพืชด้วยสารออกฤทธิ์มากกว่าหนึ่งชนิด และ 31% มีความเสี่ยงสูง
 
ในบรรดาพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ประมาณ 34% อยู่ในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง 5% อยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ และ 19% อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง
 
คณะนักวิจัยได้สร้างแผนที่โลกเพื่อแสดงให้เห็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแหล่งน้ำและพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับต่างๆ โดย
 
– พื้นที่สีแดง คือพื้นที่มีความเสี่ยงสูงสุด ซึ่งได้แก่ แหล่งต้นน้ำในแอฟริกาใต้ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และอาร์เจนตินา (วงกลมสีแดง)
 
– พื้นที่สีเหลืองถือว่ามีความเสี่ยงสูง ที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและแหล่งน้ำ
 
– พื้นที่สีฟ้ายังไม่พบว่ามีความเสี่ยง
 
– พื้นที่สีขาว เป็นพื้นที่ซึ่งไม่ได้ใช้ปลูกพืช
 
สำหรับประเทศไทย แผนที่ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ปลูกพืชและระบบนิเวศในภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนบน ภาคใต้ตอนบน และจังหวัดในภาคอีสานและภาคเหนือบางส่วน มีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของการใช้สารเคมีทางการเกษตร
 
คณะวิจัยเรียกร้องให้โลกต้องมียุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ “เกษตรกรรมที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่ยั่งยืน” ดังที่เมื่อปี 2019 คณะทำงานขององค์การสหประชาชาติ Global Environment Outlook (GEO) ได้เรียกร้องให้โลกลดการใช้สารพิษการเกษตรลง โดยชี้ว่าระบบการผลิตอาหารของโลกปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีจัดศัตรูพืชนั้น ไม่เพียงแต่เป็นปัจจัยหลักของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังเป็นต้นตอสำคัญของมลภาวะในอากาศ น้ำจืด และทะเลด้วย