เปรียบเทียบสารพิษตกค้างในผักผลไม้ ยำเข้า และ ผลิตในประเทศ ย่ำแย่ไม่แพ้กัน

เมื่อเดือนที่ผ่านมา ไทยแพนเพิ่งเผยแพร่ผลการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักผลไม้ครั้งใหญ่ โดยสุ่มตรวจผักผลไม้ทั้งหมด 509 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ โดยประกอบไปด้วยผลไม้จำนวน 9 ชนิด ประกอบด้วย ส้มโอ ส้มแมนดารินนำเข้า ลองกอง น้อยหน่า แก้วมังกร ฝรั่ง ส้มสายน้ำผึ้ง พุทราจีน และองุ่นแดงนอก ผักจำนวน 18 ชนิด ประกอบด้วย ข้าวโพดหวาน มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบเขียว แครอท ถั่วฝักยาว บร็อกโคลี หัวไชเท้า ผักบุ้ง มะระ กะเพรา กวางตุ้ง ผักชี มะเขือเทศผลเล็ก คะน้า ขึ้นฉ่าย พริกแดง และพริกขี้หนู และของแห้ง 2 ชนิด ได้แก่ พริกแห้ง และเห็ดหอม โดยส่งตัวอย่างทั้งหมดไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการในประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งสามารถตรวจวัดผลได้ครอบคลุมสารเคมีกำจัดแมลงและเชื้อรา (ไม่รวมสารเคมีกำจัดวัชพืช)กว่า 500 ชนิด และได้รับรองมาตรฐานระหว่างประเทศ (ISO17025) ซึ่งผลปรากฎว่าพบสารพิษตกค้างในผักผลไม้เกินมาตรฐานถึง 58.7% นั้น

ไทยแพนได้วิเคราะห์ผลของการตกค้างโดยละเอียด โดยจำแนกตามแหล่งที่มาของผักและผลไม้พบว่า ผักผลไม้ที่นำเข้าและผลิตในประเทศมีความเสี่ยงพอๆกัน โดยพบการตกค้างเกินมาตรฐานในผักผลไม้ที่ผลิตในประเทศ 54.01% จากจำนวนผักที่ส่งตรวจทั้งหมด 274 ตัวอย่าง ส่วนผักผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศพบตกค้างเกินมาตรฐาน 56.1% จากจำนวนตัวอย่างที่ทราบว่านำเข้ามาทั้งหมด 82 ตัวอย่าง

อย่างไรก็ตามผักผลไม้จำนวนมาก (153 ตัวอย่าง) ไม่ระบุแหล่งที่มาและไม่สามารถตรวจสอบจากผู้ขายได้ว่ามาจากแหล่งผลิตใด

ผักและผลไม้ที่นำเข้า 82 ตัวอย่างนั้น ได้แก่ เห็ดหอมแห้ง พริกแห้ง แก้วมังกร พุทราจีน ส้มแมนดาริน องุ่นแดงนอก ผักชี บร็อกโคลี ขึ้นฉ่าย แครอท หัวไชเท้า และมันฝรั่ง

ประเทศที่นำเข้ามากที่สุดตามลำดับคือ จีน (46ตัวอย่าง) ออสเตรเลีย (16 ตัวอย่าง) อเมริกา (6 ตัวอย่าง) เวียดนาม และอินเดีย (2 ตัวอย่าง) แอฟริกาใต้ (1 ตัวอย่าง) และอีก 9 ตัวอย่างเป็นสินค้านำเข้าแต่ไม่ระบุประเทศ

ชนิดของผักและผลไม้นำเข้า ที่พบว่ามีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานและแหล่งจำหน่าย


ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐในการจัดการปัญหาที่มาของผักผลไม้ที่ไม่ปลอดภัย รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเองเพื่อหลีกเลี่ยงสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และร่วมกันเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันหาทางออกต่อปัญหาเรื้อรังนี้ต่อไป

ที่มา : ฺThaiPAN