ความจริงเรื่องสารเคมี เปรียบเทียบอียูและประเทศไทย

ไม่ว่าจะดูจากตัวชี้วัดใด ปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยยังเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในแง่ปริมาณการใช้ ความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และประสิทธิภาพในการผลิตจากการพึ่งพาการใช้สารดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสหภาพยุโรป 27 ประเทศ สวนทางกับข้อมูลการเผยแพร่ของสมาคมแห่งหนึ่ง ที่ “เล่นตัวเลข” ยกตัวอย่างบางประเทศในอียูที่มีการใช้สารเคมีต่อพื้นที่มากกว่าประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อคัดค้านการแบนสารพิษร้ายแรง นโยบายลดการใช้สารเคมี และการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนขององค์กรภาคประชาสังคม และมติของสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
 
ไทยแพนใช้ข้อมูลสถิติการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศในอียูโดยใช้ฐานข้อมูลของเอฟเอโอโดยตรวจสอบเทียบเคียงแล้วกับข้อมูลของอียู (eurostat) พบว่า การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อพื้นที่ของประเทศอียูอยู่ที่ 3.8 ก.ก.(สารออกฤทธิ์) ต่อแฮกตาร์ ( 6.25 ไร่) ในขณะที่ประเทศไทยตัวเลขการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของกรมวิชาการเกษตรอยู่ที่ 4.1 ก.ก.ต่อแฮกตาร์ และเมื่อคิดการใช้สารเคมีต่อหัวประชากร ประเทศในอียูก็ยังน้อยกว่าประเทศไทย โดยประเทศไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อหัวอยู่ที่ 1.3 ก.ก.ต่อคน ในขณะที่อียูใช้เพียง 0.8 ก.ก.ต่อคนเท่านั้น
 
ที่สำคัญการใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืชของอียูและประเทศไทยนั้น ไม่สามารถมองเพียงแค่ปริมาณสารออกฤทธิ์เท่านั้น แต่ต้องดูความเป็นอันตรายของสารพิษดังกล่าวด้วย โดยจากการเปรียบเทียบจากฐานข้อมูล Consolidated List of Banned Pesticides ซึ่งจัดทำโดย Pesticide Action Network (PAN) ที่เปรียบเทียบสถานะของการจัดการปัญหาสารเคมีทั่วโลกพบว่า อียูแบนสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงไปแล้วถึง 175 ชนิด ในขณะที่ประเทศไทยแบนไปเพียง 45 ชนิดเท่านั้น (ข้อมูล ณ 5 มีนาคม 2021) ดังนั้นนอกเหนือจากใช้สารเคมีน้อยกว่าแล้ว อียูยังใช้สารเคมีที่มีความเป็นอันตรายน้อยกว่า
 
ในทางวิชาการ การวิเคราะห์ปัญหาภาพรวมการใช้สารเคมีนอกจากวัดจากปริมาณการใช้ต่อพื้นที่หรือต่อหัวประชากรแล้ว ยังมีการวัดจากประสิทธิภาพในการใช้สารเคมีเพื่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งจากการเปรียบเทียบโดยใช้ข้อมูลจาก eurostat พบว่าจีดีพีของการผลิตพืชของอียูมีมูลค่า 93.46 พันล้านยูโร ในขณะที่ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจของไทยระบุว่า ประเทศไทยมีมูลค่าจีดีพีการผลิตพืชอยู่ที่ 4.14 แสนล้านบาทในปี 2563
 
จากการคำนวณพบว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของการผลิตพืชของไทยต่อฟาร์มและต่อพื้นที่(แฮกตาร์)อยู่ที่ 54,529 บาท และ 20,714 บาท ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศอียูอยู่ที่ 250,233 บาท และ 39,682 บาทตามลำดับ
 
ประเทศในสหภาพยุโรปแม้จะใช้สารเคมีในปริมาณน้อยกว่าและเสี่ยงอันตรายน้อยกว่าแล้ว ยังมีประสิทธิภาพกว่าประเทศไทย 1.92 และ 6.42 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อพื้นที่ และต่อฟาร์มตามลำดับ
 
แม้กระนั้นประเทศสหภาพยุโรปยังเห็นว่ายังจำเป็นต้องเข้มงวดเพื่อลดความเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาการใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืชของตนลงให้มากขึ้น คณะกรรมาธิการของยุโรปจึงตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณการใช้สารเคมีทั้งหมดของตนให้ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นภายในปี 2030
 
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของสถานะปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับสหภาพยุโรป
 
ผู้มีวิจารณญาณย่อมตรวจสอบได้ว่ากลุ่มองค์กรใดที่เผยแพร่ข้อมูลเพื่อบิดบังความเป็นจริงเกี่ยวกับปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเจตนาของกลุ่มดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อบรรษัทค้าสารพิษที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของตน