บรรษัทสารพิษติดปีกดิจิทัล

ตอนที่บรรษัทเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ทั้งหลายหันมาบุกเบิกเทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรม บางคนหลงเชื่อว่าบรรษัทเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงเกษตรกรรมที่พึ่งพาสารพิษไปสู่เทคโนโลยีเกษตรที่ปลอดภัย แต่ระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่เริ่มนำพืชดัดแปลงพันธุกรรมมาปลูกเชิงพาณิชย์ในปี 1996 กลับกลายเป็นว่า เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยรวมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีกำจัดวัชพืช โดยสารพิษที่ถูกส่งเสริมพ่วงกับพืชจีเอ็มโอมากที่สุดคือไกลโฟเซต สารพิษกำจัดวัชพืชที่ศาลสหรัฐวินิจฉัยจากหลักฐานในคดีฟ้องร้องนับไม่ถ้วนในสหรัฐว่าเป็นสารก่อมะเร็ง

บัดนี้ 5 บรรษัทเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ของโลก ได้แก่ ซินเจนทา/เคมไชน่า ไบเออร์/มอนซานโต้ คอร์ติวา (ดาวอะโกรไซแอนส์) BASF และ FMC กำลังร่วมทุนหรือซื้อกิจการบริษัทดิจิทัลเพื่อนำวิทยาศาสตร์ข้อมูลมหัต ( big data & data science)เพื่อต่อยอดกิจการและผลประโยชน์การค้าผลิตภัณฑ์เคมีเกษตรของพวกเขา (ปรากฎนี้เกิดขึ้นพร้อมๆกับการที่บรรษัทยักษ์ใหญ่ดิจิทัลก็หันมาลงทุนด้านเกษตรกรรมและอาหาร

เคมีเกษตรกำลังผสมพันธุ์กับเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารขนาดใหญ่ !

เมื่อปี 2019 ซินเจนทา / เคมไชน่า ซื้อบริษัท Cropio ซึ่งเป็น บริษัท ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อก้าวไปสู่การทำฟาร์มดิจิทัล บรรษัทเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่นี้อ้างว่า ขณะนี้มีฟาร์มรวมกันมากกว่า 40 ล้านเฮกตาร์ทั่วโลกที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของพวกเขาในการทำการเกษตร และคาดว่าตัวเลขพื้นที่เกษตรที่ใช้เทคโนโลยีนี้จะเพิ่มเป็น 80 ล้านแฮกตาร์เมื่อสิ้นปี 2020 ที่เพิ่งผ่านมา

ในขณะเดียวกันคู่แข่งอย่างไบเออร์ / มอนซานโต ไบเออร์มีเครื่องมืออย่าง Climate FieldView และ weather.com เพื่อบุกเบิกตลาดข้อมูลดิจิทัลสำหรับการเกษตร

BASF ยักษ์ใหญ่เคมีเกษตรอีกราย มี Xarvio ซึ่งช่วยวินิจฉัยปัญหาศัตรูพืช ทั้งวัชพืช โรค แมลง และอื่นๆ และที่สำคัญคำแนะนำในการจัดการปัญหานั้นย่อมไม่หนีการใช้ผลิตภัณฑ์สารพิษของบริษัทนี้ในการแก้ปัญหานั่นเอง นอกเหนือจากนี้ BASF กำลังจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Bosch ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบดิจิทัลไปพร้อมกันด้วย

Corteva มี Granular เพื่อแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ส่วน FMC ได้ประกาศเปิดตัว Arc farm intelligence ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเกษตรสำหรับเกษตรกรรมแม่นยำ พวกเขาอ้างว่าช่วยให้ผู้ปลูกสามารถคาดการณ์และคำนวณความเสี่ยงของปัญหาศัตรูพืชได้อย่างแม่นยำก่อนที่มันจะระบาด เพื่อช่วยในการตัดสินใจใช้เทคโนโลยีจัดการศัตรูพืช

สิ่งที่สังคมกำลังตั้งคำถามคือ การใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารมหาศาลเกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ของพืช แมลงและสิ่งมีชีวิต สภาพทางกายภาพของดิน ข้อมูลสภาพทางภูมิอากาศ การบริหารการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภค ฯลฯ นั้น จะนำไปสู่วิถีเกษตรกรรมที่เราจะลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีร้ายแรง ลดการพึ่งพาการใช้สารพิษ หรือจะทำให้โลกนี้ต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์สารพิษของบรรษัทเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่เหล่านั้นต่อไปอย่างยั่งยืนกันแน่ ?

การใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science) และข้อมูลมหัต (big data) ควรจะทำให้มนุษย์เรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาและสภาพกายภาพของฐานทรัพยากรเพื่อใช้ประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงเกษตรกรรมเคมีที่ล้าหลัง ไปสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศที่ซับซ้อนกว่าและยั่งยืนไม่ใช่หรือ ?

ข้อมูลบางส่วนจาก Digital control : How Big Tech moves into food and farming (and what it means) โดย GRAIN, January 2021.
ที่มา : BIOTHAI