ผลกระทบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อสุขภาพคนไทย

ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นเนื่องจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นปัญหาใหญ่และรุนแรงมากของสังคมไทย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสังคมไทยยังขาดความตระหนักร่วมกันอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ดังข้อมูลเมื่อปี 2540 ของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีเกษตรกรที่ผลการตรวจเลือดอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อการเกิดพิษ อันเนื่องมาจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนถึง 16.35% หรือ 89,926 คน จากจำนวนเกษตรกรที่ตรวจเลือด 563,353 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2550 ผลการสุ่มตรวจพบว่ามีเกษตรกรถึง 39% ที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพดังกล่าว[1]
ทั้งนี้สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าสารเคมีฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตและคาร์บาเมตนั้นอยู่ในอันดับที่ 3 และสารเคมีปราบวัชพืชในอันดับ 5 ของสาเหตุการป่วยหรือบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพจาก 152 สาเหตุทั้งหมด[2]
ปัญหาสุขภาพและความเสี่ยงจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
ปัญหาด้านสุขภาพสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือผลกระทบที่เป็นพิษเฉียบพลัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการในทันทีหลังจากสัมผัสสารเคมี เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ท้องร่วง หายใจติดขัด ตาพร่า เป็นต้น และผลกระทบที่เป็นพิษเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากพิษสะสมที่ก่อให้เกิดโรคหรือปัญหาอื่นๆ เช่น มะเร็ง เบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคผิวหนังต่างๆ การเป็นหมัน การพิการของทารกแรกเกิด หรือการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของระบบข้อมูล ทำให้ตัวเลขสถิติของจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(ไม่นับกรณีทำร้ายตนเอง) ในปี 2553 มีเพียง 2,015 คน[3] ในขณะที่ รายงานจากฐานข้อมูลผู้ป่วยจากระบบประกันสุขภาพ พบว่ามีผู้ป่วยจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีจำนวนสูงกว่าถึง 4 เท่าตัว กล่าวคือสูงถึง 8,546 คนต่อปี[4] อย่างไรก็ตาม สถิติเหล่านี้เป็นเพียงการรายงานอุบัติการณ์ของผู้ป่วยจากพิษเฉียบพลันซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการใช้สารเคมี แต่ยังไม่รวมผู้ป่วยที่อาจไม่ได้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลหรือผู้ป่วยจากพิษสะสมเรื้อรัง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยแท้จริงแล้วอาจสูงถึง200,000 – 400,000 คนต่อปี[5]
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง: วิกฤตในระบบอาหารไทย
ปัญหาและพิษภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมิได้ส่งผลต่อเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคด้วย เนื่องจากการบริโภคผักและผลผลิตที่มีสารเคมีตกค้าง ดังรายงานการตรวจเลือดในเกษตรกรและผู้บริโภคในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าเกษตรกรและแม่บ้านมีสารเคมีตกค้างในระดับไม่ปลอดภัยและเสี่ยงรวม 75% ส่วนในกลุ่มผู้บริโภคที่รวมถึงนักเรียน บุคลากรในมหาวิทยาลัย ข้าราชการ นั้นมีสูงถึง 89.22%[6]  ซึ่งสาเหตุหลักของความแตกต่างนี้อาจเป็นเพราะว่าเกษตรกรมีตัวเลือกในการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยมากกว่าผู้บริโภคทั่วไป
 
รายงานดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อปัญหาสุขภาพของคนไทยทั่วประเทศที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารเคมีตกค้างได้ ผลการสำรวจการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ยังชี้ถึงวิกฤตความปลอดภัยด้านอาหารอย่างชัดเจน ระหว่างปี 2543-2546 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ [7] ได้ทำการสำรวจผักสดในกรุงเทพและปริมณฑล 359 ตัวอย่าง[8] และพบว่าอัตราการพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักที่มีเครื่องหมายปลอดสารพิษและผักที่ไม่มีเครื่องหมายคือ 51.8% และ 63.7% ตามลำดับ ซึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบล้วนมีความอันตรายร้ายแรงมาก[9] ส่วนผักในห้างสรรพสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีการบรรจุหีบห่ออย่างมิดชิดก็มีสัดส่วนสารเคมีตกค้างที่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยอยู่เช่นกัน[10]
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้าย
ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โรคมะเร็งกลายเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ[11] แซงหน้าเอดส์ โรคหัวใจ และอุบัติเหตุบนท้องถนน และมีการประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 55,000 คนต่อปี[12] สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างอยู่ในอาหารเป็นหนึ่งในเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งและปัญหาทางสุขภาพต่างๆซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้ งานวิจัยของแคนาดาในปี 2547 พบว่า[13] สารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มคาร์บาเมท และสารเคมีกำจัดวัชพืชในกลุ่มฟีนอกซี่(carbamate and phynoxy herbicide) เช่น คาร์โบฟูราน เมโทมิล คาบาริล สามารถก่อให้เกิดมะเร็งปอด สารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphates) เช่น คลอไพรีฟอส ดิอาไซนอน ไดคลอวอส สามารถก่อมะเร็งสมองและมะเร็งเม็ดเลือด

ส่วนสารเคมีเกษตรที่นับว่ามีพิษเฉียบพลันน้อยกว่ายังก่อให้เกิดโรคร้ายหลายประการเช่น สารเคมีกลุ่มไพริทริน(pyrethrine) สามารถก่อให้เกิดความผิดปรกติทางจิตประสาท โครโมโซมผิดปรกติ และทำให้เด็กทารกในครรภ์เติบโตช้าได้แม้ว่ากระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้ระบุว่าสารเคมีกลุ่มนี้อาจจะปลอดภัยต่อมนุษย์ที่สุดในจำพวกสารเคมีกำจัดแมลง[14] สารเคมีไกลโฟเซต(glyphosate) และสารในกลุ่มกลูฟาสิเนท (glufasinate) สามารถทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดหรือการแท้งได้ และสารเคมีในกลุ่มฟินอกซิล (phenoxyl) เช่น2,4-D นั้นสามารถก่อให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง นอกเหนือจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยว่าสารเคมีกำจัดศัตรูสะสมอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2[15] และโรคพาร์คินสันอีกเช่นกัน[16]

 

การแก้ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชควรเป็นวาระสำคัญของประเทศ โดยต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการออกนโยบาย กฎหมาย และมาตรการที่จะทำให้ระบบเกษตรและอาหารของประเทศคำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างพอเพียงและปลอดภัย เพราะนี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับ

 


[1] สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข (ไม่มีข้อมูลจากปี 2546 – 2548) ซึ่งในปี 2550 ได้สุ่มตรวจเกษตรกร 89,376 ราย
[2] สถิติโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมประจำปี 2551, สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กระทรวงสาธารณสุข
[3] กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข www.boe.moph.go.th/boedb/surdata/disease.php?dcontent=situation&ds=47
[4] รายงานจากปี 2550 มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าสถิติของสำนักระบาดวิทยาในปีเดียวกันถึง 6 เท่า (1,452 ราย)
[5] แผนงานวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณะสุข, 2548
[6]  จากกลุ่มเกษตรกรและแม่บ้าน 924 คน และผู้บริโภคทั่วไป 1,412 คน, แผนงานพืชอาหารเชียงใหม่ปลอดภัย, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ 2551
[7] การสำรวจปริมาณสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผัก พ.ศ. 2543-2546, วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, เม.ย.-มิ.ย. 2549
[8] โดย 166 ตัวอย่างมีเครื่องหมายผักปลอดสารพิษ
[9] สารที่พบมากที่สุดคือ ไซเพอเมตริน ,เอ็นโดซัลแฟน (เลิกใช้ยกเว้นชนิดแคปซูล),เมธามิโดฟอส (เลิกใช้), เมโทมิล
[10] ความไม่ปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค จ.เชียงใหม่, สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน, พ.ค. 2553
[11] อำพล จินดาวัฒนะ  “พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติกับอปท.” ในการประชุมสัมมนาสายสัมพันธ์สาธารณสุขท้องถิ่น, 2551 โดยสังเคราะห์จาก มรณะบัตร, สำนักระบาด (ท้องร่วง), คาดประมาณ (เอดส์)
[12] Thailand Health Profile 2005-2007, edt. Suwit Wibulpolprasert
[13] Pesticide Systemic Literature Review, The Ontario College of Family Physicians, 2004