ข้อมูลสนับสนุนการระงับการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรง 4 ชนิด

ตามที่พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2551 ได้กำหนดให้ทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทั้งหมดกว่า 27,000 รายการ ต้องขึ้นทะเบียนใหม่ทั้งหมด เพื่อควบคุมการนำเข้าและการใช้สารเคมีกำจัด ศัตรูพืชมิให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศ การดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวเปิดโอกาสให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร สามารถปฏิเสธการขึ้นทะเบียนสารเคมีที่มีความอันตรายสูงและมีผลกระทบเป็นวง กว้าง เพื่อปกป้องสุขภาวะของเกษตรกรและประชาชนไทยโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวน 4 ชนิดได้แก่ คาร์โบฟูราน (ฟูราดาน) เมโทมิล (แลนเนท) ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งมีพิษร้ายแรงและหลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้และปฏิเสธการขึ้นทะเบียน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังพิจารณาอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตราย ร้ายแรงดังกล่าว โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาใดๆที่จะสามารถยืนยันความ ปลอดภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ดังจะเป็นการขัดต่อมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ณ วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2552 ซึ่งพิจารณาให้ “ก่อนการประกาศขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทุกประเภท ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยขั้นตอนการขึ้นทะเบียนและข้อมูลที่ใช้ ประกอบการพิจารณา ก่อนประกาศกำหนดรายละเอียดตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบก่อนการพิจารณาอนุญาต และให้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียไปประกอบการพิจารณา เพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
ในการนี้ การดำเนินการของกรมวิชาการเกษตรจึงมีความไม่โปร่งใสและเอื้อประโยชน์ต่อ บริษัทสารเคมีเพียงบางบริษัท ไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและนักวิชาการ ไม่คำนึงถึงการคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และไม่ตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของสารเคมี อันตรายทั้ง 4 ชนิดนี้เป็นจำนวนมากในผลผลิตส่งออก
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และภาคีที่เกี่ยวข้อง จึงได้รวบรวมข้อมูลด้านสถานการณ์ทางนโยบายและผลกระทบของคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งเกี่ยวพันกับทั้งเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค ฐานทรัพยากรทางอาหาร และเศรษฐกิจการส่งออก โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของ สังคมไทยต่อไป
สถานการณ์ที่ผ่านมา
ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส เมโทมิล อีพีเอ็น และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรงอีก 7 ชนิด ได้รับการบรรจุให้อยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง แต่จวบบัดนี้ยังไม่มีมาตรการในการควบคุมการนำเข้า การตลาดและโฆษณา และการใช้สารเคมีที่มีความอันตรายใดๆทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่ทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมดจะหมดอายุลงในวันที่ 22 สิงหาคม 2554 กรมวิชาการเกษตรได้มีคำสั่งอนุโลมให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งหมด รวมถึงสารเคมีเฝ้าระวัง สามารถวางจำหน่ายได้จนถึง สิงหาคม 2556 ซึ่งทำให้การนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (รายละเอียดในภาคผนวก ก.) พร้อมกับการตั้งคำถามจากภาคประชาชนว่าการไหลเทของสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ ประเทศจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้และผู้บริโภคมากน้อย เพียงใด
นโยบายของประเทศอุตสาหกรรมและประเทศที่กำลังพัฒนาหลายแห่งได้กำหนดให้ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น เป็นสารเคมีต้องห้าม ไม่สามารถผลิต นำเข้า ใช้ และตกค้างในพืชผลทางการเกษตรได้ เนื่องจากมีความเป็นพิษสูง มีการใช้ที่ไม่เหมาะสมอย่างแพร่หลาย และยังสามารถปนเปื้อนในแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
การเพิกถอนทะเบียนหรือห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวัง 4 ชนิด[1]
ชื่อสารเคมี
ชื่อการค้า
ตัวอย่าง ประเทศที่ห้ามผลิต/ใช้
คาร์โบฟูราน
ฟูราดาน, เอ็กซตร้าฟูราน 3 จี,คูราแทร์, ค็อกโคได 3 จี
-สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา, จีน, จาไมก้า
-คาร์โบฟูรานอยู่ใน PIC list (การแจ้งข้อมูลล่วงหน้า) ของสนธิสัญญารอตเทอร์ดาม (Rotterdam Convention)
เมโทมิล
แลนเนท, แลนน็อค, เอมิล, ทรีโทมิล
-สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฟินแลนด์, สิงคโปร์
-อินเดียห้ามใช้ส่วนผสม (formulation) Metyomyl 24% L และ Methomyl 12.5% L แล้ว
ไดโครโตฟอส
ไดครอน, ดีฟอส 33, ดรายรัน 33, ฮุยครอน
-อินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน
อีพีเอ็น
คูมิฟอส
-สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป นิวซีแลนด์ แคนาดา อินเดีย เวียดนาม และพม่า
จากรายงานการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 พบว่าบริษัทสารเคมีเกษตร 13 แห่งกำลังขอขึ้นทะเบียน คาร์โบฟูราน เมโทมิล และไดโครโตฟอส รวมทั้งสิ้น 23 ทะเบียนโดยสารเคมีเหล่านี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นการเรียกข้อมูลจากผู้ประกอบการและพิจารณาผลกระทบของสารเคมีและพิษ เรื้อรังต่อสัตว์ทดลองในระยะเวลา 2 ปี สำหรับสารอีพีเอ็นนั้น ยังไม่มีรายงานการขึ้นทะเบียนในปัจจุบัน
จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนดังกล่าว เป็นที่น่าสังเกตว่า 1) มีการ ขอขึ้นทะเบียนเมโทมิลมากที่สุดในกลุ่มสารเคมีเฝ้าระวัง เป็นจำนวน 12 ทะเบียน โดยบริษัทแห่งหนึ่งขึ้นทะเบียนเมโทมิลถึง 4 รายการ 2) การขอขึ้นทะเบียนสารไดโครโตฟอสทั้งหมดมีแหล่งผลิตจากประเทศไต้หวันซึ่งได้ยก เลิกการใช้สารเคมีชนิดนี้แล้ว[2] 3) การที่จีนได้ประกาศยกเลิกการผลิตและใช้คาร์โบฟูรานไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา[3] ควรส่งผลต่อการระงับการขึ้นทะเบียนคาร์โบฟูรานที่มีแหล่งผลิตจากจีนเช่นกัน 4) นอกเหนือจากจีน แหล่งผลิตคาร์โบฟูรานหลักอีกแห่งคือที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ห้ามให้มีการผลิตและจำหน่ายคาร์โบฟูรานเพื่อใช้ในประเทศ[4] แต่มีการขยายฐานการผลิตมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่ออาศัยประโยชน์จากประเทศที่มีการควบคุมสารเคมีที่อ่อนแอ
ผลกระทบทางสุขภาพของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวัง 4 ชนิด
คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส เมโทมิล และอีพีเอ็น นับว่าเป็นสารพิษร้ายแรงในกลุ่ม 1a และ 1b ตามการจัดลำดับโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งหมายความว่ามีความเป็นพิษเฉียบพลันสูง มีความอันตรายถึงชีวิตแม้จะได้รับสารพิษเพียงเล็กน้อย จากการประมวลข้อมูลของ นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ และคณะ (2554) พบว่าสารเคมีดังกล่าวมีผลกระทบทางสุขภาพดังต่อไปนี้[5]
คาร์โบฟูราน มีพิษเฉียบพลันคือ พิษต่อระบบประสาทและหัวใจ หลอดเลือด โดยทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งที่ท้อง เหงื่อออก ท้องเสีย น้ำลายมาก อ่อนหล้า เสียการทรงตัว มองเห็นไม่ชัด หายใจลำบาก ความดันโลหิตสูงขึ้น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกษตรกรที่หว่านคาร์โบฟูรานในพื้นที่เกษตรมักจะมีอาการเจ็บป่วยมากจนต้อง หยุดงานในวันต่อๆมา
พิษเรื้อรังจากการสัมผัสคาร์โบฟูรานเป็นระยะเวลายาวนานได้แก่ การเสื่อมของเซลล์หรือการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ตับ พิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความผิดปกติและการตายของอสุจิ ซึ่งความผิดปกตินี้พบว่ามีผลต่อเนื่องแม้ว่าการสัมผัสสารเคมีจะหยุดลง ทำลายระบบต่อมไร้ท่อที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เกิดกาลวิรูปในทารกซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตในระยะยาว ทำให้เป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ ก่อเกิดการกลายพันธุ์ ก่อพิษต่อยีน เป็นพิษต่อเซลล์สมอง เมื่อถูกกระบวนการสันดาปในกระเพาะอาหารหรือภายใต้สภาวะที่เป็นกรด และเปลี่ยนเป็น N-nitrosocarbofuran จะมีฤทธิ์เป็นสารก่อการกลายพันธุ์และสารก่อมะเร็งที่รุนแรง
เมโทมิล มีพิษเฉียบพลันคือ ตาพร่า ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งที่ท้อง แน่นหน้าอก เหงื่อออกมาก ชีพจรเต้นช้าลง หาดเกิดพิษเฉียบพลันร้ายแรงจะมีอาการชักกระตุก สับสนมึนงง ความดันต่ำ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ การหายใจล้มเหลว และทำให้เสียชีวิต เป็นสารเคมีที่คนไทยนิยมใช้กินฆ่าตัวตาย
หากเป็นพิษเรื้อรังที่ไม่รุนแรงมากนักอาจมีอาการคล้ายเป็นหวัด อ่อนล้า เบื่ออาหาร และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เมโทมิลยังมีฤทธิ์ทำลายในระดับ DNA และ มีผลต่อปอด ผิวหนัง ลำไส้ ไต ม้าม และอวัยวะที่สร้างเลือด โดยความรุนแรงขึ้นอยู่กับวิธีการได้รับสารเคมี ระยะเวลา และปริมาณ แม้ว่าสารเคมีชนิดนี้จะไม่สะสมในร่างกาย (หากหยุดใช้หรือไม่บริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อน) แต่เมโทมิลอาจก่อความผิดปกติต่อเอนไซม์ชนิดอื่นนอกเหนือจากเอนไซม์โคลีนเอส เตอเรสที่เกี่ยวกับระบบประสาท
 
ไดโครโตฟอส มีอาการของพิษเฉียบพลันได้แก่ ปวดหัว เหลื่อออกมาก คลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก สูญเสียการทรงตัว ตาพร่า เป็นอันตรายต่อผิวหนังอย่างรุนแรง ในรายที่ได้รับพิษมากจะมีอาการเช่น หายใจลำบาก สั่น ชัก ล้มหมดสติ โคม่า ระบบหายใจล้มเหลว ส่วนใหญ่พิษเฉียบพลันจะเกิดขึ้นภายใน 12 ชั่วโมงหลังได้รับพิษ
พิษเรื้อรังของไดโครโตฟอสจะเกี่ยวกับการลดลงของน้ำหนักตัวและ ความอยากอาหาร มีผลต่อพัฒนาการของตัวอ่อนในครรภ์ มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาทส่วนกลางได้รับความเสียหาย ทำให้มีอาการชา เจ็บเหมือนถูกเข็มแทง เกิดพิษเรื้อรังต่อระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ อ่อนล้าที่มือและเท้า ก่อเกิดความผิดปกติต่อยีนและก่อเกิดการกลายพันธุ์ และมีหลักฐานว่าอาจก่อให้เกิดมะเร็ง
ทั้งนี้ สารที่เกิดจากการสลายตัวของไดโครโตฟอสคือ โมโนโครโตฟอส ซึ่งมีความอันตรายร้ายแรงยิ่งกว่าและถูกยกเลิกการใช้แล้วในประเทศไทย
อีพีเอ็น มีความเป็นพิษสูงสุดในสารเคมีเฝ้าระวัง 4 ชนิด (อยู่ในกลุ่ม 1a) อาการพิษเฉียบพลันคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เหงื่ออกมาก แน่นหน้าอก กล้ามเนื้อกระตุก สูญเสียการทรงตัว เกิดการระคายเคืองที่ปอด ไอ หายใจสั้น การได้รับสารในปริมาณมากทำให้มีการหลั่งของเหลวที่ปอด เกิดการบวม (pulmonary edema) และหยุดการหายใจ
หากได้รับพิษเรื้อรังตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาทางสมอง ระบบรีเฟล็กซ์ในระยะแรกเกิดผิดปกติ อาจทำให้ไขสันหลังผิดปกติ กระตุก อัมพาต กระดูกสันหลังคด เดินเซ เสียการทรงตัว ได้ยินเสียงผิดปกติ มีการบวมอย่างรุนแรง น้ำหนักสมองลดลง
การตกค้างในอาหาร
เมื่อกลางปี 2554 มีการตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ตกค้างเกินค่ามาตรฐาน (MRLs) มากถึง 40% และที่สำคัญ 33% เป็นคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น[6] ล่าสุด สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2554 ว่า จากการตรวจตัวอย่างผักและผลไม้ จำนวน 164 ตัวอย่าง พบว่ามีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานเป็น 20% โดยพบสารเคมีอันตรายร้ายแรงหลายประเภทรวมถึงไดโครโตฟอส อีพีเอ็น และโมโนโครโตฟอส[7] ข้อมูลเหล่านี้สอดคล้องกับการแจ้งเตือนของสหภาพยุโรป (อียู) ในระบบ Rapid Alert System for Food and Feed (RASFF) ซึ่งชี้ชัดถึงปัญหาจากสารเคมีเฝ้าระวังที่มีการตรวจพบมากถึง 32% จากผักส่งออกที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทั้งหมดในระยะเวลา 3 ปี (2552-54)[8] ปัญหา จากสารเคมีตกค้างจึงกำลังทำให้ประเทศสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการส่งออก เป็นจำนวนมาก และเป็นปัญหาสำคัญต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของไทยในการพัฒนาไปสู่การเป็น ครัวของโลกที่สามารถผลิตอาหารอย่างเพียงพอ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย
สรุปข้อมูล การตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) จากระบบ RASFF[9]
ปี 2554
ปี 2553
ปี 2552
การแจ้งเตือนสารเคมีเกษตรตกค้างทั้งหมด (ครั้ง)
14
55
18
การแจ้งเตือนเฉพาะสาร 4 ชนิด (ครั้ง)
8
13
7
สัดส่วนที่เป็นสารเฝ้าระวัง (รวม 3 ปี)
32.18%
ผักที่ตกค้างมากที่สุด
ถั่วฝักยาว 10 ครั้ง (carbofuran และ EPN)
มะเขือและมะเขือม่วง 7 ครั้ง (methomyl และ carbofuran)
บร็อคโคลี่ 4 ครั้ง (carbofuran และ dicrotophos)
สารเคมีเฝ้าระวังที่พบบ่อยที่สุด                           
1. carbofuran 12 ครั้ง           (เกิน MRL มากที่สุด 45.5 เท่า)
2. methomyl 8 ครั้ง               (เกิน MRL มากที่สุด 15 เท่า)
3. EPN 7 ครั้ง                        (เกิน MRL มากที่สุด 83 เท่า)
4. dicrotophos 4 ครั้ง            (เกิน MRL มากที่สุด 124 เท่า)
ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
ผลการศึกษาล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ไทย ยืนยันผลจากงานวิจัยอื่นๆทั่วโลกว่า คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น และเมโทมิล เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่สมควรยกเลิกห้ามใช้โดยเร่งด่วน เพราะนอกเหนือจากที่มีระดับความเป็นพิษสูงมากแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและตกค้างในพืชปลูกเกินระดับที่จะสามารถยอมรับได้
ผลการวิจัยเมื่อกลางปี 2554 โดย ดร.สุภาพร ใจการุณ และคณะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ชี้ว่า การฉีดสารเคมีทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวในแปลงผักทดลองได้ฆ่าแมลงศัตรูพืชในสัดส่วนเพียง 28% แต่กลับฆ่าแมลงที่มีประโยชน์ซึ่งเป็นตัวห้ำตัวเบียนถึง 72% การใช้สารเคมีเหล่านั้นทำให้ความหลากหลายของแมลง[10] ลดลง ซึ่งแสดงว่าในระยะยาวจะทำให้เกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืชมากยิ่งขึ้นและทำ ให้เกิดความเสียหายกับพืชผักมากกว่าจะเป็นประโยชน์ ในการเก็บตัวอย่างดินจากแปลงทดลองไปตรวจสอบหลังการใช้ 30 วัน[11] ยังพบว่ามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 4 ชนิด[12] ตกค้างเกินมาตรฐานของระดับความเข้มข้นที่ยอมรับได้สูงสุด (Maximum Allowable Concentration) ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (US EPA) และเมื่อเก็บเกี่ยวผักไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ได้พบการตกค้างเกินมาตรฐานของห้องปฏิบัติการกลางที่กำหนดไว้สำหรับผักที่จะ ส่งไปยังกลุ่มประเทศยุโรปถึงประมาณ 10 เท่า[13] แม้ว่าได้ใช้สารฆ่าแมลงทั้ง 4 ชนิดในแปลงปลูกคะน้าตามฉลากของผลิตภัณฑ์และตามคำแนะนำของนักวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัด
ทางเลือกของการยุติการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชร้ายแรง 4 ชนิด
ดั่งที่หลายประเทศได้ห้ามใช้คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น จึงมีการพัฒนาสารเคมีทดแทนหรือวิธีกำจัดศัตรูพืชทางอื่น ดังต่อไปนี้
สารเคมีเฝ้าระวัง
สารเคมีที่ทดแทนได้ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรู
ไดโครโตฟอส
คาร์โบฟูราน
เมโทมิล
อีพีเอ็น
สปินโนแซด
บาซิลลัส ทูริงเยซิส (Bt)
ไดอะเฟนไธยูรอน
คลอฟลูอาซูรอน
แลมดา-ไซฮาโลทริน
เดลตาเมทริน
โครมาฟิโนไซด์
จากตัวอย่างผักที่มีการตกค้างบ่อยครั้ง คือ คะน้า มีรายงานว่าสารป้องกันการจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรใช้ในการเพาะปลูกผักคะน้า อย่างเดียวมีมากถึง 34 ชนิด เป็นสารป้องกันกำจัดแมลง 19 ชนิด สารป้องกันกำจัดโรคพืช 9 ชนิด และสารป้องกันกำจัดวัชพืช 6 ชนิด และพบว่าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในการเพาะปลูกผักคะน้าที่หน่วย งานที่เกี่ยวข้องควรมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ไดโครโตฟอสและเมโทมิล (เพ็ญนภา และคณะ, 2553)[14] ส่วน คาร์โบฟูราน และอีพีเอ็น ไม่พบว่ามีการแนะนำ แต่กลับพบการตกค้างในผลผลิตที่ส่งออก เนื่องจากเกษตรกรได้พบเห็นประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูของคาร์โบ ฟูรานในพืชชนิดอื่น จึงนำมาใช้กับผักที่ต้องการปลูกในลักษณะหว่านในแปลงก่อนปลูก อีกทั้งสารฆ่าแมลงดังกล่าวมีราคาไม่แพงมากนักทำให้เกษตรกรหาซื้อได้ง่าย จนเรียกได้ว่าเป็นสารเคมีสามัญประจำร้าน
หากต้องการใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัยหรือฤทธิ์ตกค้างสั้น (ระยะเก็บเกี่ยวหลังการพ่นสารสั้น) และมีรายงานว่าเป็นพิษต่ำกับสิ่งมีชีวิตนอกเป้าหมาย (ตัวห้ำและตัวเบียน) สามารถใช้สารเคมีทดแทน เช่น อะเซทามิพริด และคลอร์ฟีนาเพอร์ หรือใช้สารที่มีความเฉพาะเจาะจงกับแมลง มีผลต่อการเจริญเติบและทำให้แมลงตายเนื่องจากการลอกคราบไม่สำเร็จ เช่น ไดอะเฟนไทยูรอน คลอฟลูอาซูรอน ฟลูเฟนนอกซูรอน และไตรฟลูมูรอน รวมถึงสารชีวภัณฑ์ต่างๆ เช่น เชื้อ Bt เชื้อไวรัส NPV เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรีย หรือการใช้สมุนไพรไล่แมลง เป็นต้น

สรุป สถิติการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวัง 4 ชนิด

 
 
ปี 2553
ปี 2554 (ม.ค. – ส.ค.)
 
ปริมาณนำเข้า (กก.)
ปริมาณนำเข้า (กก.)
สารออกฤทธิ์ (กก.)
มูลค่า (บาท)
คาร์โบฟูราน
5,301,161
10,412,292
405,784
256,774,577
เมโทมิล
1,550,200
2,367,628
1,038,415
367,145,285
ไดโครโตฟอส
356,908
255,936
86,747
37,706,945
อีพีเอ็น
144,001
168,000
151,200
59,546,512
รวม
7,352,270
13,203,856
1,682,145
721,173,319
 
 

สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวังที่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาขึ้นทะเบียน 3 ชนิด

ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554
ที่
ชื่อสาร
(สูตร, ชนิดทะเบียน)
ชื่อการค้า
บริษัท
แหล่งผลิต
1
คาร์โบฟูราน (3% GR)
Furadan 3G
เอฟเอ็มซี เคมิคัล (ประเทศไทย) บจก.
PT Bina Guna Kimia (an FMC Joint Venture Company), Indonesia
2
คาร์โบฟูราน (3% GR)
Furadan 3G
เอฟเอ็มซี เคมิคัล (ประเทศไทย) บจก.
FMC Corporation, USA
3
คาร์โบฟูราน (3% GR)
Carbofuran 3 G
ไดนามิค อะโกร เซอวิส บจก.
Yueyang Anta Chemical Industry, PRC
4
คาร์โบฟูราน (3% GR)
เอ็กซตร้าฟูราน 3 จี
เอ็กซตร้า อโกรเคมีคอล
Yueyang Anta Chemical Industry, PRC
5
คาร์โบฟูราน (3% GR)
Carbofuran
เอ็กซตร้า อโกรเคมีคอล
Yueyang Anta Chemical Industry, PRC
6
เมโทมิล (40% SP)
Calsonate 40
ไฮพลัส บจก.
Qingdao Audis Bio-Tech, PRC
7
เมโทมิล (40% SP)
Treethomyl (ทรีโทมิล)
ทรีเทค บจก.
Qingdao Audis Bio-Tech, PRC
8
เมโทมิล (40% SP)
Lannate
ดูปองท์ (ประเทศไทย) บจก.
E.I. du Pont de Nemours and Company, USA; PT.DuPont Agricultural Products Indonesia, Indonesia
9
เมโทมิล (40% SP)
แลนเนท
ดูปองท์ (ประเทศไทย) บจก.
E.I. du Pont de Nemours and Company, USA; PT.DuPont Agricultural Products Indonesia, Indonesia
10
เมโทมิล (18% W/V SL)
แลนเนท-แอล
ดูปองท์ (ประเทศไทย) บจก.
E.I. du Pont de Nemours and Company, USA
11
เมโทมิล (98% min Tech.)
Methomyl Tech.
ดูปองท์ (ประเทศไทย) บจก.
E.I. du Pont de Nemours and Company, USA
12
เมโทมิล (40% SP)
Methomyl 40
เอ็กซตร้า อโกรเคมีคอล บจก.
Qingdao Audis Bio-Tech, PRC
13
เมโทมิล (40% SP)
LANNOX
โกลบอล ครอปส์ บจก.
Qingdao Audis Bio-Tech, PRC
14
เมโทมิล (40% SP)
Richnock
เคมแฟค บจก.
Qingdao Audis Bio-Tech, PRC
15
เมโทมิล (40% SP)
Methomyl
อินเตอร์ คร็อพ บจก.
Bailing Agrochemical, PRC
16
เมโทมิล (40% SP)
Methomyl
เคมแฟค บจก.
Bailing Agrochemical, PRC
17
เมโทมิล (40% SP)
Amyl
ลัดดา อินเตอร์เทรด บจก.
Taishan Agriculture Technology, PRC
18
ไดโครโตฟอส (33% W/V SL)
Dicrotophos
แอ็กโฟรีแพ็กซ์ อินดัสตรีส์ บจก.
Huikwang Corporation, Taiwan
19
ไดโครโตฟอส (33% W/V SL)
ดรายรัน 33
แอ็กโฟรีแพ็กซ์ อินดัสตรีส์ บจก.
Huikwang Corporation, Taiwan
20
ไดโครโตฟอส (33% W/V SL)
Dicrotophos
ยูนิพรีมา บจก.
Huikwang Corporation, Taiwan
21
ไดโครโตฟอส (33% W/V SL)
ดีฟอส 33
ยูนิพรีมา บจก.
Huikwang Corporation, Taiwan
22
ไดโครโตฟอส (33% W/V SL)
Dicrotophos 33
อินเตอร์ คร็อพ บจก.
Huikwang Corporation, Taiwan
23
ไดโครโตฟอส( 33% W/V SL, import)
Huicron 33
ฮุยกวง (ประเทศไทย)
Huikwang Corporation, Taiwan

 


[1] ข้อมูล จากการสำรวจเว็บไซต์ของหน่วยงานควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแต่ละประเทศ เอกสารการวิจัย หนังสือพิมพ์และข่าวออนไลน์ ณ วันที่ 28 มกราคม 2555
[2] ใบอนุญาตจากแหล่งผลิตในไต้หวันระบุว่า “สำหรับการส่งออกเท่านั้น”
[4] แต่ไม่ได้มีการควบคุมการผลิตเพื่อส่งออก
[5] เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเพื่อการเฝ้าระวังสารเคมีทางการเกษตร, 16-17 มิถุนายน 2554
[6] จาก การสัมภาษณ์นักวิชาการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนสพ. คม ชัด ลึก, “แฉธุรกิจยาพิษฆ่าแมลงหมื่นล้าน(2) : ผักปลอดสาร…อันตรายกว่า!!”, 17 ส.ค. 2554
[7] เป็นอนุพันธ์ของไดโครโตฟอส และเป็นสารเคมีที่ถูกระงับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย
[8] อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมมีการแจ้งเตือนที่ลดลงจาก 55 ครั้งในปี  2553 เป็น 14 ครั้งในปี 2554
[10] จากการวัดโดยใช้ “ค่าดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity index)”
[11] โดยใช้เทคนิค HPLC และ GC-MS
[12] มีค่าสารตกค้าง เท่ากับ 0.590+0.285 mg/kg, 0.300+0.142 mg/kg, 0.317+0.060 mg/kg, และ 0.150+0.053 mg/kg ตามลำดับ
[13] โดยพบสารเคมี carbofuran ตกค้างในตัวอย่างคะน้า เท่ากับ 0.223+0.162 mg/kg, สารเคมี dicrotophos 0.176+0.095 mg/kg, สารเคมี methomyl 0.140+0.075 mg/kg และสารเคมี EPN  0.153+0.102 mg/kg
[14] ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างไม่เหมาะสมในการปลูกผักคะน้า. วารสารพิษวิทยาไทย 25(2): 133-143.